สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 5, 2018 13:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 28 ก.ย. - 4 ต.ค. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561
ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,881 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,161 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.85

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,616 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,550 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1346

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% ปรับตัวอยู่ที่ตันละ 400-405 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากตันละ 395-405 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้เริ่มมีความต้องการข้าวจากประเทศฟิลิปปินส์เข้ามา ขณะที่วงการค้าคาดว่าราคาข้าวยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะอุปทานข้าวในตลาดมีจำกัด และคาดว่าจะมีความต้องการข้าวจากต่างประเทศอย่างต่อเนี่อง

สำนักข่าว Reuters รายงานว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน) เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 4.93 ล้านตัน มูลค่า 2.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และร้อยละ 22 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 400,000 ตัน ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับ 516,000 ตัน ในเดือนกันยายน 2560

สำนักงานพัฒนาการตลาดและสินค้าเกษตรแปรรูป (the Agro Processing and Market Development Authority) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (the Ministry of Agriculture and Rural Development) คาดว่า การส่งออกข้าวจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้จากการที่ภาวะความต้องการข้าวในตลาดโลกมีทิศทางดีขึ้น ประกอบกับเวียดนามมีการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวที่เน้นการผลิตข้าวคุณภาพสูงและข้าวหอม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดมากขึ้น ซึ่งการส่งออกข้าวคุณภาพสูงคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อย 80 ของการส่งออกทั้งหมด โดยที่ราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมีการกระจายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยพิจารณาจากความต้องการของตลาดนั้นๆ ด้วย

ทั้งนี้ หลังจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวภายใต้กรอบ FTA ASEAN-CHINA ซึ่งทำให้การนำเข้าข้าวจากเวียดนามมีภาษีนำเข้าเพิ่มเป็นร้อยละ 50 จากอัตราเดิมร้อยละ 5 นั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกข้าวเหนียวไปยังประเทศจีน และทำให้ราคาข้าวเหนียวของเวียดนามลดลงมาอยู่ที่ประมาณตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงต้นปีอยู่ที่ประมาณตันละ 530-540 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เวียดนามต้องมองหาตลาดส่งออกอื่นๆแทนที่จะพึ่งพาตลาดจีนเพียงตลาดเดียว เช่น อิรัก ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไอวอรี่โคสต์ และสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ส่งผลให้ขณะนี้ราคาข้าวเหนียวเริ่มปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ตันละประมาณ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับภาวะตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่า ความต้องการข้าวจากหลายประเทศจะมีมากขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มอีกประมาณ 500,000-800,000 ตัน ขณะที่ตลาดอินโดนีเซีย และประเทศในแถบแอฟริกาอื่นๆ ก็คาดว่าจะมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เมียนมาร์

สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation (MRF) ระบุว่า เมียนมาร์และจีนได้ตกลงขยายเวลา ข้อตกลงด้านพิธีสารสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary-SPS Protocol) ออกไปจนถึงปี 2563 (ทั้งสอง ประเทศลงนามพิธีสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557) ซึ่งทำให้เมียนมาร์ยังคงสามารถส่งออกข้าวไปยังจีนได้โดยส่งออกผ่านทางแนวชายแดนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ส่วนการส่งออกทางเรือมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นซึ่งประเทศจีนถือเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมาร์

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ (the Commerce Ministry) รายงานว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 14 กันยายน 2561 ในปีงบประมาณปัจจุบัน 2561/62 (1 เมษายน 2561-31 มีนาคม 2562) เมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้วประมาณ 1.07 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 371.123 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยข้าวสารจำนวน 853,403 ตัน มูลค่าประมาณ 305.728 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และข้าวหักจำนวน 217,583 ตัน มูลค่าประมาณ 65.395 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่งออกทางแนวชายแดนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 55.87 และส่งออกทางเรือในสัดส่วนร้อยละ 44.13 ซึ่งปัจจุบันเมียนมาร์ส่งออกข้าวไปยัง 42 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2555/56 มีการส่งออกข้าวประมาณ 1.423 ล้านตัน มูลค่า 551 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2556/57 มีการส่งออกข้าวประมาณ 1.262 ล้านตัน มูลค่า 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2557/58 มีการส่งออกข้าวประมาณ 1.84 ล้านตัน มูลค่า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2558/59 มีการ ส่งออกข้าวประมาณ 1.493 ล้านตัน มูลค่า 526 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีงบประมาณ 2559/60 มีการส่งออกข้าวประมาณ 1.75 ล้านตัน มูลค่า 553 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปีงบประมาณ 2560/61 มีการส่งออกข้าวประมาณ 3.576 ล้านตัน มูลค่า 1,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสมาพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation) คาดว่าภายในระยะเวลา 3 ปี เมียนมาร์จะส่งออกข้าวได้ถึง 4 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในปีงบประมาณ 2555/56 มีการส่งออกข้าวผ่านทางชายแดนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของการ ส่งออกทั้งหมด ปีงบประมาณ 2556/57 การส่งออกข้าวผ่านทางชายแดนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 72 ปีงบประมาณ 2557/58 การส่งออกข้าวผ่านทางชายแดนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 77 ปีงบประมาณ 2558/59 การส่งออกข้าวผ่านทางชายแดนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 82 และปีงบประมาณ 2559/60 การส่งออกข้าวผ่าน ทางชายแดนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 72 ขณะที่ในปีงบประมาณ 2560/61 ที่ผ่านมา สัดส่วนการส่งออกผ่านทาง ทะเลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 48

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สำนักงานอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) ประกาศเปิดประมูลนำเข้าข้าวขาว 25% (well-milled long grain white rice) จำนวน 250,000 ตัน จากประเทศใดก็ได้ โดยหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนสามารถเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ได้ ซึ่งจะมีการประชุมชี้แจงในวันที่ 5 ตุลาคม และกำหนดรับข้อเสนอในวันที่ 18 ตุลาคม ส่วนการส่งมอบข้าวจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาสำนักงานอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority Council; NFA Council) อนุมัติให้มีการนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 500,000 ตัน เพิ่มเติมจากที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมาจำนวน 250,000 ตัน (รวมเป็น 750,000 ตัน) โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีนี้ ขณะเดียวกัน สภา NFA ยังอนุมัติให้เตรียมการนำเข้าข้าวสำหรับปีหน้าอีก 1 ล้านตัน

ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวจำนวน 250,000 ตัน ที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้ (จะเปิดประมูลเป็นการทั่วไป หรือ open tenderคาดว่า จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้) ต้องส่งมอบแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนการประมูลจำนวน 500,000 ตัน ก็จะเปิดประมูลเป็นการทั่วไป (open tender) เช่นเดียวกัน ซึ่งชนิดข้าวที่นำเข้าเป็นข้าวขาว 25% เท่านั้น

สำนักงานอาหารแห่งชาติ (NFA) คาดว่า ราคาข้าวในตลาดภายในประเทศจะเริ่มอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพในช่วงสองสัปดาห์ถึง 1 เดือน นับจากนี้ โดยคาดว่าราคาขายปลีกข้าวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 37 – 39 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 685-722 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 40 – 42 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ741 – 778 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ปัจจุบันข้าวของ NFA ที่วางขายในตลาดคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่มี สัดส่วนประมาณร้อยละ 13 โดย NFA มีสต็อกข้าวอยู่ประมาณ 2.3 ล้านถุง ซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภคประมาณ 17 วัน และคาดว่าหลังจากที่มีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแล้ว จะทำให้มีสต็อกข้าวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6 ล้านถุง

รัฐบาลได้พยายามเรียกร้องให้ภาคเอกชนไม่ควรเก็บสต็อกข้าวไว้เพื่อเก็งกำไร แต่ควรระบายข้าวในสต็อกของตนออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนข้าวในประเทศ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ