นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตลาดและตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมกัน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ติดตามประเมินผลโครงการ นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการ สศก. เปิดเผยว่า จากการประเมินผลโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก ซึ่งเป็นแผนที่ทางเลือกพืชเศรษฐกิจ แสดงชั้นข้อมูลความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิดพืช และมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลายหน่วยงานร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานในพื้นที่ที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
ผลการประเมินผลโครงการ ปีงบประมาณ 2560 พบว่า มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม (N) ไปปลูกพืชชนิดใหม่ จำนวน 157,702 ไร่ ได้แก่ อ้อยโรงงาน เกษตรผสมผสาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และหม่อนเลี้ยงไหม รวมทั้งประมง โดยในฤดูการผลิต ปี 2560/61 พื้นที่ร้อยละ 57 ได้รับผลผลิตแล้ว ส่วนร้อยละ 32 ให้ผลผลิตบางส่วน เนื่องจากเกิดน้ำท่วม เกษตรกรต้องเริ่มปลูกใหม่ และบางชนิดต้องใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโต อีกร้อยละ 11 ยังไม่ได้รับผลผลิต อาทิ พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ไม้ผลไม้ยืนต้น ซึ่งให้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 96 ยังคงผลิตสินค้าที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรร้อยละ 34 ต้องการขยายพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 5 ไร่
จากการประเมินพบว่า ทุกชนิดสินค้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าว โดยหญ้าเลี้ยงสัตว์ ให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าการปลูกข้าว ประมาณ 9,502 บาท/ไร่/ปี หม่อนเลี้ยงไหม ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 6,788 บาท/ไร่/ปี ประมง ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 4,783 บาท/ไร่/ปี อ้อยโรงงาน ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 3,323 บาท/ไร่/ปี และมันสำปะหลัง ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 476 บาท/ไร่/ปี ตามลำดับ ซึ่งภาพรวมเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนการผลิตมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากได้รับการดูแลให้คำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และงบประมาณเพื่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตบางส่วนได้จริง
สำหรับโครงการในปี 2561 ขณะนี้ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ไปทำประมง ปศุสัตว์ ปลูกพืชเศรษฐกิจ และเกษตรผสมผสาน แล้วกว่า 257,000 ไร่ รวมทั้งได้อบรมการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพในพื้นที่ปรับเปลี่ยนการผลิตแก่เกษตรกร 4,560 ราย โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้เร่งพัฒนาแผนที่ทางเลือกพืชเศรษฐกิจ ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อรองรับเขตเกษตรเศรษฐกิจ 5 ชนิดสินค้าเพิ่มเติมในปี 2562
ทั้งนี้ สศก. ยังได้ศึกษา วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญและศึกษาสินค้าเกษตรเพื่อเป็นสินค้าทางเลือกในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ นำมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรในการผลิตพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดที่เหมาะสม ในปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องร่วมส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิต ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิตอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการในระยะต่อไป ยังคงต้องเน้นประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ข้อมูล ความรู้เรื่องแผนที่ทางเลือกพืชเศรษฐกิจสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง โดยจัดพิมพ์เป็นเอกสารแผนที่ที่เกษตรกรสามารถเข้าใจได้ง่าย พัฒนาระบบการใช้แผนที่ผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และระบบออนไลน์ (online) รวมทั้ง ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ และสามารถใช้ประโยชน์จากแผนที่ ให้สามารถเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร