สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 16, 2018 13:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 5 - 11 ต.ค. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,868 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,881 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,612 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,616 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,830 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.6229

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทรงตัวอยู่ที่ตันละ 400-405 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากช่วงนี้ต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวของประเทศจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของเวียดนามแต่การที่อุปทานข้าวในประเทศมีจำกัดและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงช่วยพยุงราคาข้าวให้ทรงตัว อย่างไรก็ตาม วงการค้าข้าวคาดว่า ในเร็วๆ นี้ตลาดจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะคาดว่าความต้องการข้าวจากประเทศฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้ ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่จะเริ่มออกสู่ตลาดอีกครั้ง

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาไม่มากนัก โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 367 - 373 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงประมาณ 1 - 3 ดอลลาร์สหรัฐ จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ตันละ 370 - 374 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับช่วงนี้โรงสีรอผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนหน้า ก่อนที่จะเสนอราคาขายให้ผู้ซื้อต่างประเทศ โดยคาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ (summer-sown rice) ที่กำลังจะออกสู่ตลาดนี้ จะมีประมาณ 99.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 1.8

สำหรับค่าเงินรูปีได้อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ต้นปี ประมาณร้อยละ 13 นั้น ได้ส่งผลดีต่อการแข่งขันในตลาดกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ เช่น ไทย และเวียดนาม เพราะผู้ส่งออกอินเดียสามารถเสนอขายข้าวได้ในราคาที่ต่ำกว่า

โดยในปีการผลิต 2560/61 นี้ (ตุลาคม 2560 - กันยายน 2561) องค์การอาหารแห่งชาติ (Food Corporation of India; FCI) สามารถจัดหาข้าวในฤดู Kharif marketing season ได้ประมาณ 38.177 ล้านตัน (ณ วันที่ 30 กันยายน) จากที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ 37.5 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา (2559/60) ที่จัดหาได้ประมาณ 38.7 ล้านตัน (จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 33.0 ล้านตัน) โดยข้าวที่จัดหาได้ส่วนใหญ่มาจาก แคว้น Punjab ประมาณ 11.833 ล้านตัน และ Andhra Pradesh ประมาณ 3.994 ล้านตัน ส่วนที่เหลือมาจากแคว้นอื่นๆ เช่น Chattisgarh, Uttar Pradesh, Haryana, Odisha, และ West Bengal

ทั้งนี้ ในปีการตลาด 2560/61 รัฐบาลได้กำหนดราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) สำหรับข้าวเกรดธรรมดา (common grade rice) อยู่ที่ตันละ 1,550 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม หรือประมาณตันละ 236 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนข้าวเกรด A กำหนดไว้ที่ 1,590 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม หรือประมาณตันละ 242 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

ส่านักข่าว Reuters รายงานว่า การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (the National Grain Trade Center) สามารถขายข้าวได้ 9,897 ตัน คิดเป็นร้อยละ 1.64 ของจำนวนที่นำมาประมูลทั้งหมดประมาณ 603,476 ตัน โดยราคาเฉลี่ยที่ประมูลคือ 2,006 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 290 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนการประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติไม่สามารถขายข้าวได้จากที่นำมาประมูลทั้งหมดประมาณ 817,664 ตัน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติได้นำข้าวเปลือกจากสต็อกของรัฐบาลออกมาประมูลขายประมาณ 78.98 ล้านตัน แต่สามารถขายได้ประมาณ 7.96 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 10.07 ของจำนวนที่นำออกมาประมูล โดยข้าวในปีการตลาด 2556/57 ราคาเฉลี่ยประมาณ 292 - 378 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และข้าวปีการตลาด 2558/59 - 2560/61 ราคาเฉลี่ยประมาณ 353 - 415 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2561/62 (กรกฎาคม 2561 – มิถุนายน 2562) ประเทศจีนจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 201.834 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นข้าวสารประมาณ 141.284 ล้านตัน มากกว่าที่คาดไว้ที่ 140.8 ล้านตัน แต่ลดลงจากปีก่อนหน้า (2560/61) ที่มีประมาณ 145.989 ล้านตัน

ด้านความต้องการบริโภคข้าวในปี 2561/62 คาดว่าจะมีประมาณ 145 ล้านตันข้าวสาร มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 143.5 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 143.5 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าความต้องการนำไปใช้ในการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น ทางด้านภาวะราคาข้าวในประเทศช่วงนี้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากการที่รัฐบาลระบายข้าวเก่าจากสต็อกสำรองของรัฐบาลออกสู่ตลาด ทำให้อุปทานข้าวในตลาดมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาขายส่งทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารในตลาด โดยเฉพาะข้าวสายพันธุ์ Indica ปรับลดลงประมาณร้อยละ 3 และร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

สำหรับการนำเข้าข้าวในปี 2561/62 คาดว่าจะมีประมาณ 5 ล้านตันข้าวสาร ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ที่ 5.5 ล้านตัน โดยปัจจุบันรัฐบาลจีนมีนโยบายในการเพิ่มแหล่งนำเข้าข้าว โดยใช้มาตรการด้านสุขอนามัย (phytosanitary protocols) และการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandums of Understanding) กับแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศล่าสุดที่รัฐบาลจีนได้ทำข้อตกลง คือ อินเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้อินเดียสามารถส่งออกได้เฉพาะข้าวบาสมาติเท่านั้น แต่หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในพิธีสารที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ในขณะนี้อินเดียสามารถส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติไปยังประเทศจีนได้แล้ว

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ