สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 22, 2018 14:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 12 - 18 ต.ค. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ ดังนี้

(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,845 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,868 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.15

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,579 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,612 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.42

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,830 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,113 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,028 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,369 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,980 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 407 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,175 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3703

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวสูงอยู่ที่ตันละ 400-405 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากในช่วงนี้อุปทานข้าวในประเทศมีจำกัด เพราะการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูนาปรังเพิ่งสิ้นสุดลง ขณะที่วงการค้ากำลังติดตามภาวะความต้องการข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีความต้องการนำเข้าข้าวจ้านวนมากเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าของเวียดนาม (Deputy minister of Industry and Trade) ได้กล่าวในระหว่างการประชุมข้าวนานาชาติที่จัดขึ้นที่กรุงฮานอยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเวียดนามกำลังศึกษาแนวทาง

ในการส่งออกข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และส่วนแบ่งตลาด ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก ขณะที่หลายประเทศพยายามที่จะพึ่งพาผลผลิตข้าวในประเทศและจำกัดการนำเข้าข้าว รวมทั้งยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี

การผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการที่ประเทศจีนมีนโยบายเข้มงวดในการนำเข้าข้าวมากขึ้น ทำให้ข้าวถูกตีกลับมากขึ้น เพราะไม่ตรงตามมาตรฐานนำเข้าของจีน ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลางนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาวบางชนิด ซึ่งเวียดนามไม่มีข้าวพันธุ์ดังกล่าว

เพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออกข้าว รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎระเบียบการส่งออกข้าวฉบับใหม่คือ Decree 107 เพื่อนำมาบังคับใช้แทนฉบับเดิมคือ Decree 109 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้

มีการส่งออกมากขึ้น และลดอุปสรรคที่กฎระเบียบเดิมเคยกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวของประเทศ การส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างตราสัญลักษณ์ข้าวของเวียดนามเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกับผู้ซื้อในต่างประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ในการส่งออกข้าวโดยการลดการพึ่งพาตลาดเอเชียเพียงตลาดเดียว และจะเพิ่มการผลิตข้าวคุณภาพสูงให้มากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2573 สัดส่วนของตลาดเอเชียจะเหลือประมาณร้อยละ 50 จาก ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 และจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังภูมิภาคแอฟริกาเป็นร้อยละ 25 และอเมริกาเป็นร้อยละ 10 ในส่วนของการผลิต จะลดการปลูกข้าวคุณภาพต่ำหันไปผลิตข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอม ข้าวชนิดพิเศษ และข้าวญี่ปุ่น รวมทั้งผลิตข้าวอินทรีย์ให้มากขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกข้าวในปีนี้ที่ประมาณ 3.2-3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 26.9 จากจำนวน 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว

สมาคมอาหารของเวียดนามเปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี (มกราคม – กันยายน) เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 4.89 ล้านตัน มูลค่า 2.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และร้อยละ 21.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สมาคมฯ ระบุว่า รายได้จากการส่งออกข้าวที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มาจากราคาข้าวที่สูงขึ้น และความต้องการข้าวในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย อิรัก จีน และฟิลิปปินส์ โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในช่วง 9 เดือนแรก

ทางด้านกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เวียดนามจะสามารถส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างๆ ที่มีความต้องการซื้อข้าวอย่างต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีงบประมาณ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบนาข้าวเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากภัยพิบัติธรรมชาติ

สมาคมยังกล่าวด้วยว่า ในปีที่แล้วเวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 5.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน และฟิลิปปินส์ ส่วนในปีนี้เวียดนามได้วางแผนส่งออกข้าว 6.5 ล้านตัน รวมถึงการเพิ่มปริมาณส่งออกข้าวคุณภาพสูง อาทิ ข้าวญี่ปุ่น ข้าวหอม และข้าวเหนียว

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2560/61 (มกราคม – ธันวาคม 2561) เวียดนามจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 45.55 ล้านตัน (ประมาณ 28.47 ล้านตันข้าวสาร) ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 46.309 ล้านตัน (ประมาณ 28.94 ล้านตันข้าวสาร) เนื่องจากคาดว่า พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตต่อพื้นที่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (the Mekong River Delta; MRD) จะลดลง ส่วนในปีการตลาด 2561/62 (มกราคม – ธันวาคม 2562) คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 46.51 ล้านตัน (ประมาณ 29.07 ล้านตันข้าวสาร)

ทางด้านการส่งออกข้าวในปี 2560/61 คาดว่า จะมีประมาณ 6.8 ล้านตัน ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 7 ล้านตัน และในปี 2561/62 คาดว่า จะส่งออกได้ประมาณ 7 ล้านตัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – สิงหาคม) เวียดนาม ส่งออกข้าวประมาณ 4.937 ล้านตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 1,291,538 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 11,763 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 878,741 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 117,230 ตัน ปลายข้าวขาวจำนวน 29,543 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 653,126 ตัน ข้าวหอมจำนวน 1,593,177 ตัน และข้าวอื่น ๆ จำนวน 362,336 ตัน โดยส่งไปยังภูมิภาคเอเชียจำนวน 3,922,442 ตัน แอฟริกา 578,183 ตัน ประเทศในยุโรปและกลุ่ม CIS จำนวน 35,253 ตัน ภูมิภาคอเมริกาจำนวน 352,334 ตัน และภูมิภาคออสเตรเลียจำนวน 49,242 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

ปริมาณการส่งออกข้าวของกัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค. – ก.ย.) รวม 389,264 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 421,966 ตัน โดยในปีนี้ตั้งแต่เดือน มกราคม – กันยายน กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายสำคัญของประเทศแล้วปริมาณ 96,716 ตัน ในการนี้ นายกสมาคมข้าวของกัมพูชารายงานว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลงเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินหยวนและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาสินค้าของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้น อยู่ในระดับที่แพงกว่าราคาสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน ทำให้รัฐบาลจีนหยุดสนับสนุนสินค้ากัมพูชา ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรของประเทศจีนปรับตัวลดลง ประชากรจีนส่วนใหญ่หันไปบริโภคสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นของจีนจึงลดลงตามไปด้วย

สำหรับการส่งออกปี 2562 คาดว่า กัมพูชาจะส่งออกข้าวทั้งหมดประมาณ 1.39 ล้านตัน (รวมการส่งออกอย่างเป็นทางการและข้าวที่ส่งผ่านทางชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน) เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 1.33 ล้านตัน

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation) รายงานว่า ข้าวหอมมาลิอังกอร์ (Maly Angkor)ของกัมพูชา ได้รับรางวัลชนะเลิศอีกครั้งหนึ่งในการประกวดข้าวโลก (World's Best Rice) ประจำปี 2561 ซึ่งเป็น

ส่วนหนึ่งของงานประชุม TRT World Rice Conference 2018 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ข้าวกัมพูชาครองตำแหน่งข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลกเป็นครั้งที่ 4 ในช่วง 6 ปี มานี้ ซึ่งข้าวของกัมพูชาเคยคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อปี 2555 2556 และ 2557 ติดต่อกันสามปีซ้อน กับอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ หลังจากกัมพูชามีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพข้าวอย่างหนัก อันเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการธนาคาร เกษตรกรผู้ปลูก และสหพันธ์ข้าวฯ ที่เป็นศูนย์รวมของผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่และเล็กเกือบ 100 ราย จากทั่วประเทศ

ที่มา : Reuters, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

การประมูลข้าวเพื่อการนำเข้าของประเทศฟิลิปปินส์ครั้งล่าสุดในวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 250,000 ตัน มีเพียงข้าวสารจำนวน 47,000 ตัน จากผู้ส่งออก 4 ราย เท่านั้น ที่สามารถเสนอราคาอ้างอิงตามเกณฑ์ที่ราคาตันละ 428.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำเกินไป ทำให้ข้าวที่เสนอเข้าประมูลครั้งนี้ส่วนมากไม่ผ่านเงื่อนไขที่กำหนด

โดยราคาข้าวที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่เสนออยู่ระหว่าง 450 – 480 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันข้าวสาร จากผู้ส่งออกทั้งสิ้น 14 ราย ที่เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ มีเพียง 4 รายเท่านั้น ที่สามารถส่งออกได้ตามราคาอ้างอิงที่ผู้นำเข้าตั้งไว้ ได้แก่ Thai Capital Crops Co. Ltd., Vinafood I, Vinafood II, และ Khiem Thanh Agricultural High Technology Joint Stock Co.

ทั้งนี้ NFA ไม่ได้มองว่าการประมูลในครั้งนี้ล้มเหลวแต่อย่างใด แต่ฟิลิปปินส์ต้องทำการประมูลเพื่อนำเข้าข้าวให้เต็มจำนวนดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด โดยข้าวสารในจำนวนอีก 203,000 ตัน ที่ต้องประมูลเพื่อนำเข้าอีกครั้งยังไม่มีมติว่าจะจัดประมูลเมื่อใด และจะมีการปรับเกณฑ์ราคาอ้างอิงหรือไม่ เนื่องจาก NFA เพิ่งปรับเกณฑ์ราคาอ้างอิงไปแล้ว เมื่อช่วงต้นปี หลังจากที่การประมูลข้าวในช่วงเวลาดังกล่าวล้มเหลว

ที่มา : Philippine Daily Inquirer October 19, 2018

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ