สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 26 - 1 พ.ย. 61
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ ดังนี้
(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ
(2) ด้านการตลาด
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก
(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น
(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,921 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,825 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.64
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,774 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,601 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.27
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,350 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.85
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,104 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,304 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,105 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,894 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 410 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,252 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,286 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.46 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,891 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,896 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.25 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 5 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,055 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,091 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.48 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 36 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.8844
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวขาว 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 410-415 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากตันละ 405-410 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากในช่วงนี้อุปทานข้าวในประเทศมีจำกัด เพราะการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูนาปรังเพิ่งสิ้นสุดลง ขณะที่คาดว่าความต้องการข้าวจากประเทศในแถบเอเชียจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งคาดว่าจะมีการซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จึงทำให้ผู้ค้าข้าวในประเทศต่างเร่งหาซื้อข้าวเตรียมไว้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการค้าตามปกติในช่วงนี้ค่อนข้างเงียบเหงา เพราะราคาข้าวของเวียดนามสูงกว่าประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นๆ
ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (the Mekong Delta) เริ่มหว่านข้าวฤดูการผลิตฤดูหนาว (the winter-spring crop) แต่คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะลดลงในอีกสองเดือนข้างหน้า ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดภาวะแห้งแล้ง
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) คาดว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวได้ ประมาณ 5.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 2.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในเดือนตุลาคมนี้คาดว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 350,000 ตัน มูลค่ากว่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน อยู่ที่ตันละ 361-367 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากตันละ 365-370 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีแรงกดดันจากความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง ประกอบกับในฤดูเก็บเกี่ยว summer-sown crops ที่กำลังจะมาถึงคาดว่าจะมี ผลผลิตประมาณ 99.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.8 และจากในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) สำหรับข้าวเกรดธรรมดา (common-grade paddy) ขึ้นมาที่ 1,750 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม หรือประมาณ 255 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนในการซื้อข้าวจากเกษตรกรสูงขึ้น เพราะต้องแย่งซื้อข้าวกับรัฐบาลแต่วงการค้าคาดว่าจะไม่มีผลต่อราคาส่งออกมากนักเพราะค่าเงินรูปีอ่อนค่าลง โดยล่าสุดค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ประมาณ 74.48 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (the Indian Ministry of Commerce and Industry) รายงานว่า รัฐบาลจีนอนุญาตให้ บริษัทส่งออกข้าวของอินเดียอีก 5 ราย สามารถส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติไปยังประเทศจีนได้ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ส่งออกข้าวของอินเดียทั้งหมด 24 บริษัท สามารถส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนได้
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้อนุมัติให้บริษัทของอินเดียจำนวน 19 ราย จากที่หน่วยงานของจีนได้มีการตรวจประเมินโรงงานแล้ว 24 ราย สามารถที่จะส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติไปยังประเทศจีนได้ และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้เริ่มส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติจำนวน 100 ตัน ไปยังประเทศจีนเป็นล็อตแรกแล้ว
กระทรวงทรัพยากรน้ำ (the Ministry of Water Resources) รายงานว่า ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำหลักทั่วประเทศ 91 แห่ง ณ วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำกักเก็บประมาณ 112.67 พันล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (111.63 พันล้านลูกบาศก์เมตร) ประมาณร้อยละ 0.93 แต่ลดลงร้อยละ 2.04 เมื่อเทียบกับ 115.02 พันล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วปริมาณกักเก็บมีประมาณ 120.09 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่กับเก็บในขณะนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของความจุของอ่างเก็บน้ำ ซึ่ง สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ประมาณ 161.993 พันล้านลูกบาศก์เมตร
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
สภาองค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority Council; NFAC) ได้อนุมัติข้อเสนออย่างเป็นทางการให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าข้าวผ่านช่องทางของโครงการนำเข้าข้าว (PRD or Presyong Risonable Dapat) ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (the Department of Trade and Industry; DTI) จำนวน 350,000 ตัน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่นำเข้าข้าวจะต้องนำข้าวที่นำเข้ามาขายในตลาดในราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 38 เปโซ
ทั้งนี้ ภายใต้ระเบียบการนำเข้าผ่านช่องทางนี้ กระทรวงการค้าฯ จะให้การรับรองต่อ NFA สำหรับผู้นำเข้าภายใต้โครงการนี้ (PRD) และ NFA จะออกใบอนุญาตนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าที่กระทรวงการค้าฯ ได้พิจารณาแล้ว โดยขณะนี้มีผู้แสดงความจำนงจะนำเข้าในช่องทางนี้แล้ว 4 ราย เช่น Philippine Consumer Centric Traders Association, Robinsons Supermarket และ Puregold โดยกระทรวงการค้าจะเปิดให้ผู้สนใจนำเข้าข้าวทั้งผู้นำเข้าเอกชนและผู้ค้าปลีกต่างๆ มายื่นเสนอความจำนงในการนำเข้าข้าว โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ที่มายื่นก่อนและจะให้แต่ละรายนำเข้าข้าวได้สูงสุด รายละ 20,000 ตัน
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานโดยอ้างอิงจากหนังสือเวียนของกระทรวงการค้า (Department of Trade and Industry) กระทรวงเกษตร (Department of Agriculture) องค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority; NFA) และสำนักงานบริหารจัดการสินค้าน้ำตาล (Sugar Regulatory Administration) ระบุว่า รัฐบาลจะอนุญาตให้ผู้ค้าปลีก ผู้ที่ใช้ข้าวในการผลิต และผู้นำเข้าที่เชื่อมโยงกับผู้ค้าปลีกสามารถนำเข้าข้าวและน้ำตาลได้ ตราบใดที่สามารถนำมาจำหน่ายในประเทศได้ในระดับราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยข้าวจะกำหนดราคาขายไว้ที่ 38 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 705 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนน้ำตาลกำหนดราคาขายไว้ที่ 50 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 928 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังพยายามที่จะจัดหาข้าวอีก 703,000 ตัน หลังจากที่ซื้อข้าวได้เพียง 47,000 ตันจากการประมูลแบบ G to P เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าในช่วงสัปดาห์หน้าจะมีการปรับวิธีการประมูลจากเดิมที่แบ่งเป็น 3 ครั้ง ๆ ละ 250,000 ตัน นั้น จะเปลี่ยนเป็นการประมูลแบบ government-to-government (G2G) จำนวน 203,000 ตัน (ที่เหลือจากการประมูลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม) และหลังจากนั้นจะจัดประมูลแบบ government-to-private (G2P) จำนวน 500,000 ตัน โดยคาดว่าหน่วยงาน NFA จะออกประกาศเงื่อนไขการประมูล (Terms of Reference; TOR) รอบใหม่ (re-bidding) ในเร็วๆ นี้ โดยจะประมูลแบบ G2G ก่อน แล้วจึงจะจัดประมูลแบบ G2P ตามมา
ล่าสุดมีรายงานว่าองค์การอาหารแห่งชาติ (NFA) ได้เลื่อนการประมูลแบบ G2G เพื่อจัดหาข้าวขาว 25% (25% BROKENS, WELL MILLED LONG GRAIN WHITE RICE) จำนวน 203,700 ตัน จากเดิมวันที่ 30 ตุลาคม ออกไปเป็นวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้
ในปีนี้รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการนำเข้าข้าวรวมประมาณ 2.4 ล้านตัน (ซึ่งยังต่ำกว่าในปี 2553 ที่มีการนำเข้าข้าวประมาณ 2.45 ล้านตัน) ประกอบด้วยการประมูลแบบ G to G และ G to P ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมารวม 500,000 ตัน การจัดสรรโควตาให้เอกชนนำเข้าภายใต้ระบบ MAV ในปีนี้รวม 805,200 ตัน การอนุมัติให้ผู้ค้าข้าวนำเข้า 350,000 ตัน และการอนุมัติให้ NFA จัดประมูลแบบ G to P อีก 3 ครั้ง รวม 750,000 ตัน
สภาองค์การอาหารแห่งชาติได้ออกประกาศตารางเวลาของของการนำเข้าข้าวภายใต้ระบบ MAV (Minimum Access Volume) ในปี 2560/61 โดยในเฟส 2 นี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2561 และไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562
รัฐบาลได้เลื่อนการใช้มาตรการราคาแนะนำ (the suggested retail price; SRP) สำหรับข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศและข้าวที่ผลิตในประเทศจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันที่ 27 ตุลาคม ตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ต้องการเวลาในการปรับตัวก่อนที่จะบังคับใช้มาตรการดังกล่าว
โดยทางการได้กำหนดราคาขายปลีกของข้าวขาวเกรดธรรมดาที่นำเข้า (imported regular milled rice) กำหนดไว้ที่ 40 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 745 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) ขณะที่ราคาขายปลีกของข้าวขาวเกรดธรรมดาที่ผลิตในประเทศ (local regular milled rice) กำหนดไว้ที่ 39 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 725 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) และข้าวขาวเกรดดีที่ผลิตในประเทศ (local well-milled rice) กำหนดไว้ที่ 44 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 818 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) ส่วนข้าวเกรดพรีเมี่ยมกำหนดไว้ที่ 47 เปโซต่อกิโลกรัม (ประมาณ 874 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (The Philippine Statistics Authority; PSA) รายงานว่า ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากที่ราคาพุ่งสูงขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย (The average farm-gate paddy price) อยู่ที่ระดับ 21.17 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 395 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 3.16 จากช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารเกรดดี (The average wholesale price of the well-milled rice) อยู่ที่ระดับ 45.16 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 842 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.64 จากช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนราคาขายปลีกข้าวสารเกรดดี (The average retail price of the well-milled rice) อยู่ที่ระดับ 48.83 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 911 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.35 จากช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ราคาขายส่งข้าวสารเกรดธรรมดา (The average wholesale price of the regular-milled rice) อยู่ที่ระดับ 42.20 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 787 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 1 จากช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และราคาขายปลีกข้าวสารเกรดธรรมดา (The average retail price of the regular-milled rice) อยู่ที่ระดับ 45.72 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 853 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.33 จากช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร