นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ หอมแดง ปี 2562 (ปีเพาะปลูก 2561/62) ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร มีมติเห็นชอบผลพยากรณ์ (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2561) คาดว่า หอมแดง ปี 2562 มีเนื้อที่เพาะปลูก รวมทั้งประเทศ 66,652 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 66,795 ไร่ (ลดลงร้อยละ 0.21) เนื้อที่เก็บเกี่ยว รวมทั้งประเทศ 66,135 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 65,336 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.22) ผลผลิต รวมทั้งประเทศ 168,854 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 166,662 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.32) ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว ทั้งประเทศ 2,553 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 2,551 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08)
สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกหอมแดงคาดว่าลดลง เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลง โดยราคาหอมแดงหัวกลาง มัดจุก แห้ง 7 - 15 วัน เฉลี่ย (มกราคม - มีนาคม) ปี 2561 อยู่ที่กิโลกรัมละ 12.78 บาท โดยปี 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 19.51 บาท (ลดลงร้อยละ 34.50) ในขณะที่เนื้อที่เก็บเกี่ยวคาดว่าเพิ่มขึ้น เพราะปีที่แล้วบางแหล่งผลิตประสบปัญหาโรคไหม้ และโรคเชื้อรา ทำให้มีเนื้อที่เสียหาย แต่ปีนี้คาดว่าจะไม่มีฝนตกในช่วงฤดูเพาะปลูก เนื้อที่เสียหายจากผลผลิตเน่าเสียและโรคเชื้อราจึงลดลง และผลผลิตต่อไร่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น หากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย อากาศหนาวเย็นยาวนาน มีน้ำเพียงพอในช่วงระยะการเจริญเติบโต และแตกกอ จะทำให้หอมแดงเจริญเติบโตได้เต็มที่ น้ำหนักดี มีขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตามหากมองรายภาค ภาคเหนือ คาดว่าเนื้อที่เพาะปลูกหอมแดงลดลง เนื่องจากในแหล่งผลิตใหญ่ประสบปัญหา เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2561 มีเชื้อราระบาด และราคาลดลง เกษตรกรจึงปล่อยพื้นที่ว่าง และจังหวัดเพชรบูรณ์มีโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ยาสูบ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ในขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อที่เพาะปลูกหอมแดงคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากจังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่ได้รับการส่งเสริม และเป็นของดีเมืองศรีสะเกษ จึงจูงใจเกษตรกรขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แนวทางบริหารจัดการสินค้าหอมแดงในปี 2562 ซึ่งจะมีผลผลิตออกตลาดมากในช่วงต้นปีนั้น (มกราคม - มีนาคม) ภาครัฐได้กำหนดมาตรการไว้อย่างรอบด้าน โดยกรมศุลกากร ได้มีมาตรการเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าหอมแดงจากต่างประเทศ และประเมินราคาเพื่อเสียภาษีนำเข้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะใช้ขบวนการสหกรณ์ในการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตในประเทศ โดยสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ เพื่อช่วยเร่งระบายผลผลิตผ่านเครือข่ายสหกรณ์ รวมถึงชะลอการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน จะประสานห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรด ช่วยเร่งกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเจรจากับประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยเพื่อลดข้อกีดกันการนำเข้าหอมแดงจากประเทศไทย
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร และสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร