นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 45 (Committee on World Food Security: CFS) ระหว่างวันที่ 15–19 ตุลาคม 2561 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งมีวาระสำคัญของการประชุมในประเด็นต่างๆ อาทิ สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของโลก ปี 2561 ประเด็นสำคัญและอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ การเตรียมการจัดทำแนวปฏิบัติโดยสมัครใจว่าด้วยระบบอาหารและโภชนาการ และการนำเสนอรายงาน เรื่องความเป็นหุ้นส่วนระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนเงินทุนและพัฒนา ความมั่นคงอาหารและโภชนาการ
การประชุมดังกล่าว Mr. Jose Graziano da Silva ผู้อำนวยการใหญ่ของ FAO ได้เน้นย้ำในที่ประชุม ถึงความจำเป็นในการดำเนินการด้านโภชนาการ โดยนำเสนอให้เห็นถึงความอดอยากหิวโหยได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 อีกทั้งแนวโน้มการเติบโตของโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา ดังนั้น การให้ความสำคัญด้านโภชนาการ การเพิ่มบทบาทของสตรีในชนบท และการดำเนินงานด้านเกษตรกรรมแบบครอบครัว เป็นสิ่งจำเป็นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความมั่นคงอาหารและโภชนาการ
ด้าน Mr. David Beasley ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของโครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) ได้กล่าวในที่ประชุมว่า รายจ่ายของ WFP กว่าร้อยละ 80 อยู่ในเขตสงคราม โดยระบุว่า ความขัดแย้งทำให้เกิดความอดอยากหิวโหย ประชาชน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ และเรียกร้องให้มีการพัฒนาด้านมนุษยธรรมควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกัน ทาง Mr. Cornelia Richter รองประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (International Fund for Agricultural Development: IFAD) กล่าวถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร เช่น การเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) อีกทั้งให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตลอดห่วงโซ่คุณค่า และบทบาทของเกษตรกรรายย่อย
โอกาสเดียวกันนี้ เลขาธิการ สศก. ได้อภิปรายเสนอความเห็นในที่ประชุมเกี่ยวกับรายงานเรื่อง “ความเป็นหุ้นส่วนระหว่าง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนเงินทุนและพัฒนาความมั่นคงอาหารและโภชนาการ” โดยเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารและโภชนาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินนโยบายประชารัฐภาคเกษตร เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร (Public–Private Partnership) ในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยใช้ความก้าวหน้าของภาคเอกชนในการบริการจัดการ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการตลาดในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ CFS เป็นเวทีการประชุมนานาชาติด้านความมั่นคงด้านอาหารของโลก เพื่อติดตามสถานการณ์ นโยบาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศสมาชิก ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแบบสมัครใจ ซึ่งไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการกำหนดนโยบายบายความมั่นคงด้านอาหารและยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งปัจจุบัน สมาชิกของ CFS ประกอบด้วยประเทศสมาชิกของ UN, FAO, IFAD และ WFP รวมถึงภาคประชาสังคม โดยจัดประชุมเป็นประจำในเดือนตุลาคมของทุกปี
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร