สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 9 - 15 พ.ย. 61
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการ ดังนี้
1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)
2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง
4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)
5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ
6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ
7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง
หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก
(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น
(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,770 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,192 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.80
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,141 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,768 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.80
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,116 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,532 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 88 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,159 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,799 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,159 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.7345
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวขาว 5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณตันละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ จากตันละ 410-415 เหรียญสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นตันละ 415-420 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ภาวะการค้าค่อนข้างซบเซา เนื่องจากในช่วงนี้ผู้ส่งออกไม่ค่อยทำสัญญาขายข้าวเพราะราคาข้าวของเวียดนามสูงกว่า ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่รายอื่นๆ ประกอบกับอุปทานข้าวในประเทศมีจำกัดหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูนาปรังเพิ่งสิ้นสุดลง
สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรเวียดนาม (the General Department if Vietnam Customs) ว่าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 362,838 ตัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน 360,188 ตัน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และลดลงประมาณร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาโดยในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.25 ล้านตัน มูลค่าส่งออก 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หนังสือพิมพ์ Khmer Times รายงานว่า ผู้ส่งออกข้าวของกัมพูชามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจของอียูที่จะกำหนดอัตราภาษีการนำเข้าข้าวจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (the least developed countries; LDCs) เช่น กัมพูชา และเมียนมาร์
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปกำลังเสนอให้มีการกำหนดภาษีนำเข้าในช่วงปีแรกที่อัตรา 175 ยูโรต่อตัน (ประมาณตันละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปีที่สองที่อัตรา 150 ยูโรต่อตัน (ประมาณตันละ 171 ดอลลาร์สหรัฐ) และในปีต่อไปที่อัตรา 125 ยูโรต่อตัน (ประมาณตันละ 143 ดอลลาร์สหรัฐ)
ด้านรองประธานสหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (the Cambodia Rice Federation; CRF) กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชาได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษี (the Everything-but-arms; EBA) ที่สหภาพยุโรปให้แก่กัมพูชาแต่การกำหนดมาตรการภาษีใหม่จะมีผลต่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปแน่นอน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันข้าวของกัมพูชาลดลง กัมพูชาจะต้องปรับตัวโดยการกระจายสินค้าออกไปยังตลาดอื่นๆ นอกสหภาพยุโรป ซึ่งกัมพูชากำลังมองไปที่ตลาดจีน ซึ่งในขณะนี้ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา
รองประธานสหพันธ์ข้าวฯ ระบุว่า การเสนอใช้อัตราภาษีนำเข้าสำหรับข้าวกัมพูชาในครั้งนี้ ถือว่าไม่เป็นการสมควร เพราะเกษตรกรของประเทศอิตาลีและสเปนได้เปลี่ยนไปเพาะปลูกข้าวพันธุ์ Japonica เนื่องจากสร้างผลกำไรดีกว่าการปลูกข้าวพันธุ์ Indica แต่พวกเขาก็ยังคงตำหนิว่า กัมพูชาและเมียนมาร์ส่งออกข้าวสายพันธุ์ Indica ที่มีราคาถูกกว่าไปตีตลาดในสหภาพยุโรป ดังนั้นเกษตรกรของกัมพูชาจะต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆ และกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย เพื่อความอยู่รอด
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (the Indonesia Stock Exchange; IDEX) รายงานว่า แนวโน้มการบริโภคข้าวของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางได้เริ่มหันไปบริโภคข้าวเกรดพรีเมียมทดแทนข้าวคุณภาพปานกลางมากขึ้น ซึ่งตามรายงานของบริษัท PT Buyung Poetra Sembada (HOKI) ที่เป็นผู้ผลิตข้าว ระบุไว้ในรายงานการเงินของบริษัท ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 17.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยรายได้ในส่วนของข้าวเกรดพรีเมียมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15.6
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผู้บริโภคเริ่มหันไปบริโภคข้าวคุณภาพดีมากขึ้น โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้แนวโน้มของราคาข้าวในตลาดจะพิจารณาจากข้าวคุณภาพดีมากกว่าข้าวคุณภาพปานกลาง นอกจากนี้หากสำรวจพฤติกรรมการบริโภคแล้วจะพบว่า ในช่วงที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นผู้บริโภคจะไม่หันกลับไปซื้อข้าวคุณภาพปานกลาง แต่จะเลือกใช้วิธีบริโภคข้าวคุณภาพดีในปริมาณที่ลดลง
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร