ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.43 เมื่อเทียบกับปี 2560 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ อาทิ ทุเรียน เงาะ และลำไย และปศุสัตว์ คือ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และโคเนื้อ ด้าน สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และมังคุด
ในขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 5.86 เมื่อเทียบกับปี 2560 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และปศุสัตว์ คือ สุกร ไก่เนื้อ และโคเนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน ลำไย และ ไข่ไก่
หากมองถึงดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2561 พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.19 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ลดลง และเมื่อพิจารณาถึงรายได้เกษตรกร ในแต่ละหมวดสินค้า พบว่า หมวดพืชผล รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.46 โดยสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ คือ ทุเรียน เงาะ และลำไย
หมวดปศุสัตว์ รายได้เกษตรกร ลดลงร้อยละ 3.04 เนื่องจากผลผลิตสินค้าปศุสัตว์หลักทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และโคเนื้อ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาส่วนใหญ่อ่อนตัวลง และหมวดประมง ลดลงร้อยละ 22.11 เนื่องจากราคากุ้งขาวแวนนาไมลดลง ซึ่งสอดคล้องกับราคาในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะอุปทานส่วนเกิน ทั้งนี้ แม้ดัชนีรายได้เกษตรกรของสาขาปศุสัตว์ และประมงจะลดลง แต่ภาพรวมรายได้ของเกษตรกรยังเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของสาขาพืชเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการทางด้านการเกษตร ประกอบกับส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ ของตลาด ด้วยหลักการตลาดนำการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น
ตารางการเปลี่ยนแปลงดัชนีรายได้เกษตรกร ผลผลิต และราคาสินค้าเกษตร
%YoY 2560 2561 (p) 2561 (p) ครึ่งปีแรก ครึ่งปีหลัง(p) รายได้เกษตรกร 3.19 0.19 1.9 -0.31 ผลผลิตสินค้าเกษตร 6.14 6.43 12.52 1.71 ราคาสินค้าเกษตร -2.78 -5.86 -9.08 -2.3
หมายเหตุ : %YoY คือ เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา , p คือ preliminary (ตัวเลขเบื้องต้น) , ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2561
ที่มา : จากการคำนวณของศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
รองเลขาธิการ สศก. กล่าว ต่อไปว่า หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้ดัชนีรายได้ภาคเกษตรในปีหน้ายังคงขยายต่อเนื่อง
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร