สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 24, 2018 10:28 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 14 - 20 ธ.ค. 61

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,193 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,215 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,061 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,049 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,123 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,487 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,121 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,457 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 404 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,126 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,834 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 12 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,029 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 404 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,139 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.74 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 110 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4909

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% สัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า โดยราคาอ่อนตัวติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 เนื่องจากการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมีแนวโน้มลดลงจากมาตรการของทางการจีนที่มีความเข้มงวดมากขึ้น และใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพข้าวนานขึ้น

ทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้าที่จะขาย ขณะที่ผู้ซื้อก็ไม่กล้าที่จะซื้อในช่วงนี้ และมีบางรายเตรียมที่จะโหลดสินค้าที่ท่าเรือแล้วแต่ต้องนำข้าวกลับเพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อส่งสินค้าไปแล้วฝ่ายจีนจะยอมรับสินค้าหรือไม่ ซึ่งจากการที่รัฐบาลจีนเข้มงวด

ในการนำเข้าข้าวจากเวียดนามมากขึ้นนี้ ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรก เวียดนามส่งออกข้าวไปประเทศจีนลดลงประมาณร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เมียนมาร์

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทจีน 2 รายได้ทำสัญญาซื้อข้าวจากบริษัท Shan State (Northern) Rice and Paddy Development Public Co.,Ltd. ของเมียนมาร์ เพื่อนำเข้าข้าวประมาณ 15,000 ตัน ซึ่งตามข้อตกลงระบุว่า ให้บริษัทจีนรายดังกล่าวสามารถซื้อข้าวได้ในจำนวนที่สูงที่สุดเท่าที่ทางการจีนจะอนุญาต

ทั้งนี้ โรงสีข้าวของบริษัท Shan State (Northern) Rice and Paddy Development กำลังอยู่ระหว่าง การพิจารณาเพื่อให้ได้รับอนุญาต โดยหน่วยงานด้านการตรวจสอบสุขอนามัยพืชของจีน (General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People’s Republic of China) ในเรื่องการควบคุมคุณภาพ การตรวจ และการกักกันพืชของประเทศจีน

องค์กรส่งเสริมการค้าของเมียนมาร์ (The Myanmar Trade Promotion Organization) กำลังเจรจากับ ทางการจีน เพื่อให้มีการขยายการค้าข้าวมากขึ้น ซึ่งเมียนมาร์คาดหวังว่าจะมีการทำสัญญากับประเทศจีนได้ 100,000 - 1,000,000 ตัน ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมากขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ (the Commerce Ministry) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรก (1 เมษายน - 30 พฤศจิกายน 2562) ของปีงบประมาณปัจจุบัน (เมษายน 2561 - มีนาคม 2562) มีการส่งออกข้าว (ข้าวสารและข้าวหัก) ประมาณ 1,450,729 ตัน มูลค่าประมาณ 495.577 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกทางชายแดน มูลค่าประมาณ 270.507 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.6 และส่งออกทางเรือมูลค่าประมาณ 225.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.38

ในปีงบประมาณ 2555/56 เมียนมาร์ส่งออกข้าวจำนวน 1.423 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 551 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2556/57 เมียนมาร์ส่งออกข้าวจำนวน 1.262 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2557/58 เมียนมาร์ส่งออกข้าวจำนวน 1.84 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2558/59 เมียนมาร์ส่งออกข้าวจำนวน 1.493 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 526 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปีงบประมาณ 2559/60 เมียนมาร์ส่งออกข้าวจำนวน 1.75 ล้านตัน คิดเป็น มูลค่าประมาณ 553 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกทางแนวชายแดนมักจะมากกว่าการส่งออกทางเรือ ซึ่งในปีงบประมาณ 2555/56 สัดส่วนร้อยละ 60 ในปี 2556/57 สัดส่วนร้อยละ 72 ปี 2557/58 สัดส่วนร้อยละ 77 ในปี 2558/59 สัดส่วนร้อยละ 81 ในปี 2559/60 สัดส่วนร้อยละ 72 และในปี 2560/61 สัดส่วนร้อยละ 52 และเป็นการส่งออกทางเรือประมาณร้อยละ 48

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560/61 เมียนมาร์ส่งออกข้าวประมาณ 3.6 ล้านตัน จำแนกเป็นข้าวสารประมาณ 2.89 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และข้าวหักประมาณ 620,696 ตัน

รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวในอีก 3 ปีข้างหน้าให้ได้จำนวนถึง 4 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ ประธานสหพันธ์ข้าวของเมียนมาร์ (the Myanmar Rice Federation) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมา การส่งออกข้าวของเมียนมาร์ผ่านทางชายแดนมีปริมาณลดลงมากกว่าสองเท่าจากการที่ทางการจีนได้ ปราบปรามการค้าข้าวอย่างผิดกฎหมาย โดยในปีนี้เมียนมาร์ส่งออกข้าวไปจีนเดือนละประมาณ 80,000 - 90,000 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ส่งออกเดือนละประมาณ 200,000 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักงานสถิติแห่งชาติ(The National Bureau of Statistics) รายงานว่า ในปีนี้คาดว่าประเทศจีนจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 212.13 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวน 212.68 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวของจีนมีปริมาณค่อนข้างทรงตัว แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะลดลงก็ตาม ซึ่งรัฐบาลจีนกำลังพยายามที่จะลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวในบางพื้นที่ลง เพื่อแก้ไขปัญหาสต็อกข้าวของประเทศที่ในขณะนี้มีจำนวนมากเกินไป โดยในปี 2561 นี้ คาดว่าประเทศจีนมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 1,886.8 ล้านไร่

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ