สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 14, 2019 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 4 - 10 มกราคม 2562

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,300 บาท

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,931 บาท

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.85

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,146 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,372 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,013 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,759 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,013 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.7385

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 โดยราคาลดลงมาอยู่ที่ตันละ 370-375 ดอลลาร์สหรัฐ จากตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ท่ามกลางภาวการณ์ค้าที่ลดลง เนื่องจากการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมีแนวโน้มลดลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของทางการจีนที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ภาวะราคาข้าวเปลือกฤดูการผลิตฤดูร้อน (summer-autumn crop) ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ณ วันที่ 4 มกราคม 2562 ราคาอยู่ที่ประมาณ 6.1-6.4 พันด่อง หรือประมาณตันละ 263-276 ดอลลาร์สหรัฐ

วงการค้าข้าวคาดว่า เกษตรกรบางส่วนอาจจะปรับเปลี่ยนไปทำการประมงมากขึ้น หลังจากที่มีการคาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลงด้วย

ทางด้านผู้อำนวยการบริษัท Vietnam Southern Food Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของเวียดนาม เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ ของเวียดนามไปจีน ในปี 2562 อาจได้รับผลกระทบจากการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของจีน แม้ว่าสินค้าเกษตรของเวียดนามเป็นที่นิยมอย่างมากในจีนก็ตาม

ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 6.15 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 3.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับปี 2560

มีรายงานว่า ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามบางรายได้แสดงความกังวลต่อความท้าทายบางประการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาส่งออกข้าวใหม่ (The Decree 107) ที่รัฐบาลเพิ่งประกาศออกมา ซึ่งมีการเปิดเสรีภาคการส่งออก ข้าวและมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตข้าว โดยที่พระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้ผู้ค้าข้าวสามารถส่งออกข้าวได้ไม่จำกัดจำนวน แม้จะไม่มีโรงเก็บและโรงสีก็ตาม ซึ่งบทบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถขยายตลาดและส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตข้าว

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (The Ministry of Industry and Trade; MoIT) ตั้งข้อสังเกตว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดบทบาทที่ชัดเจนสำหรับหน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการเอกชน นอกจากนี้รัฐบาลจะยังคงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การคาดการณ์แนวโน้มของตลาด การประเมินความเสี่ยง และการควบคุมราคา

ในขณะเดียวกันผู้ส่งออกบางรายแสดงความกังวลว่า การเปิดเสรีค้าข้าวตามบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกานี้ อาจนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการที่ไม่ซื่อสัตย์ โดยพวกเขาแสดงความกังวลว่าการยกเลิกราคาข้าวพื้นฐาน (floor price) และการลงทะเบียนราคาข้าว (price registration) รวมถึงการเปิดเสรีด้านข้อกำหนดต่างมากขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการค้าขายแบบตัดราคากันซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพข้าวและมูลค่าการส่งออก

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ายังยอมรับว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่นี้มีความท้าทายอย่างมากต่อบริษัทส่งออกข้าว แต่ก็ระบุว่าความท้าทายเหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาในตลาดที่กำลังเติบโต

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) ได้ประกาศโลโก้เครื่องหมายการค้า “VIETNAM RICE” ในงาน The 3 rd Vietnam Rice Festival ระหว่าง วันที่ 18-24 ธันวาคม 2561 ณ จังหวัด Long An ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ซึ่งการประกาศใช้เครื่องหมายการค้า “ข้าวเวียดนาม” ครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของสินค้าข้าวเวียดนาม หลังจากที่เริ่มมีการส่งออกข้าวเข้าสู่ตลาดโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2532 และเมื่อปี 2560 เวียดนามสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 ของโลก ปริมาณ 5.8 ล้านตัน หรือมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ นอกจากเครื่องหมายการค้าข้าวเวียดนามจะได้รับความคุ้มครองในระดับสากลแล้ว เวียดนามยังได้ออกกฎระเบียบเพื่อใช้ในการกำกับเครื่องหมายดังกล่าวด้วย กล่าวคือ Decision 1499/QD-BNN-CBTTNS 2018 กำหนดว่าผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่จะใช้เครื่องหมายการค้าข้าวเวียดนาม ต้องมีเอกสารใบรับรองจัดตั้งบริษัท/ ใบรับรองการลงทุนที่ในการผลิต แปรรูป และขายข้าว และใบรับรองสุขอนามัย หรือ Good Manufacturing Practice (GMP), Hazard Analysis and Critical Control Points (HACCP), ISO 2 2 0 0 0 (Food Safety Management System ISO 2 2 0 0 0 ), International Food Standard (IFS), FSSC 2 2 0 0 0 (Food Safety System Certification 22000) นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังต้องชำระภาษีครบถ้วนและมีการป้องกันสิ่งแวดล้อม สำหรับข้าวที่ได้รับเครื่องหมายการค้า “VIETNAM RICE” คือ ข้าวขาว ข้าวหอม Jasmine และข้าวเหนียว

ที่มา : สมาคมผู้ผลิตข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

องค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) รายงานว่ามีผู้มายื่นขอนำเข้าข้าวตามโครงการนำเข้าข้าวนอกโควตา (the out-quota scheme) จำนวน 166 ราย (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 4 มกราคม 2562) รวมแล้วประมาณ 1 ล้านตัน โดยแจ้งว่าจะนำเข้าจากประเทศไทย เวียดนาม เมียนมาร์ และไต้หวัน ซึ่งข้าวที่ขอนำเข้ามีหลายชนิด เช่น ข้าวข้าว 5%, 15%, 25% และข้าวเหนียว เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สภาองค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority Council; NFAC) ได้อนุมัติโครงการนำเข้าข้าวนอกโควตา (the out-quota importation) โดยไม่จำกัดจำนวน เพื่อหวังจะช่วยให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวลง ซึ่งอนุญาตให้ผู้ค้าข้าวสามารถยื่นขออนุญาตนำเข้าข้าวได้โดยผู้นำเข้าต้องเสียภาษีนำเข้าที่อัตรา 35% หากนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียน (ASEAN countries) แต่หากนำเข้าจากประเทศอื่นๆ (non-ASEAN) จะเสียภาษีในอัตรา 50%

ที่มา : สมาคมผู้ผลิตข้าวไทย

อุรุกวัย

สำนักงานส่งเสริมการค้า (the Uruguay XXI (National Customs Administration) รายงานว่า ในปี 2561

ที่ผ่านมา อุรุกวัยส่งออกข้าวประมาณ 845,758 ตัน มูลค่าประมาณ 397 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยชนิดข้าวที่ส่งออกประกอบด้วยข้าวเปลือก 67,531 ตัน ข้าวกล้อง 99,328 ตัน ข้าวสารที่สีแล้วหรือสีบางส่วน (semi milled/wholly-milled rice) 614,802 ตัน และข้าวหัก 64,096 ตัน โดยประเทศอิรักเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุด จำนวน 218,300 ตัน ตามด้วยประเทศเปรู จำนวน 176,960 ตัน ประเทศบราซิล จำนวน 76,657 ตัน เม็กซิโก จำนวน 80,898 ตัน เวเนซูเอล่า จำนวน 76,694 ตัน และเซียร์ร่าลีโอน จำนวน 41,149 ตัน

ประเทศอุรุกวัยประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในปีการผลิต 2561 สมาคม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของอุรุกวัย (The Association of Rice Growers) ระบุว่า ต้นทุนการผลิตข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 296 ดอลลาร์สหรัฐต่อไร่ ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีกำไรลดลง

ที่มา : สมาคมผู้ผลิตข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ