สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 18, 2019 13:59 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 11 - 17 มกราคม 2562

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต*ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,971 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,300 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.15

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,728 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,931 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.56

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,153 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,414 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,146 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,372 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.61 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 42 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,917 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,013 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 96 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,664 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,759 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 95 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,012 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,013 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.5820

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

ภาวะราคาข้าวเปลือกฤดูการผลิต 2561/62 ปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเก็บข้าวเปลือกฤดูใหม่ที่ออกสู่ตลาดไว้ได้มากขึ้นหลังจากที่คลังเก็บสินค้าข้าวเริ่มเปิดดำเนินการมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดมีปริมาณลดลง โดยปัจจุบัน ราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ประมาณ 900-1,300 เรียลต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 220-320 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นข้าวชนิดใดและมีคุณภาพอย่างไร ขณะที่วงการค้าคาดว่าราคาข้าวเปลือกในฤดูถัดไปจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่กัมพูชามีความสามารถในการเก็บข้าวไว้ในคลังได้มากขึ้น

มีรายงานว่า การส่งออกข้าวจากกัมพูชาไปยังประเทศปลายทางในสหภาพยุโรป เริ่มชะลอตัวจากความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่สหภาพยุโรปจะประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชา และเมียนมาร์ ในช่วงกลางเดือนนี้

โดยขณะนี้ผู้นำเข้าข้าวในสหภาพยุโรป กำลังรอฟังการพิจารณาอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่า จะประกาศมาตรการดังกล่าวออกมาอย่างไรบ้าง ทางด้านผู้ส่งออกข้าวกัมพูชามีความกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้ซื้ออาจจะยกเลิกคำสั่งซื้อหากสหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการทางภาษีสำหรับข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชา

ขณะที่แหล่งข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (the European Commission: EC) กำลังดำเนินการพิจารณาใช้มาตรการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมข้าวในสหภาพยุโรป ที่เกิดจากการส่งออกข้าวจากกัมพูชา และเมียนมาร์ เข้าไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการประกาศใช้มาตรการทางภาษีในช่วงกลางเดือนมกราคมเป็นต้นไป โดยจะมีการเก็บภาษีนำเข้าในปีแรกที่ 175 ยูโรต่อตัน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมนี้ และในปีถัดไป อัตราภาษีจะลดลงเหลือ 150 ยูโรต่อตัน และลดลงเหลือ 125 ยูโรต่อตัน ในปีต่อมา

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าสหภาพยุโรปจะใช้มาตรการภาษีนำเข้ากับข้าวเมล็ดยาวสายพันธุ์อินดิกาจากกัมพูชาและเมียนมาร์ที่มีพิกัดสินค้า 1006 30 27, 1006 30 48, 1006 30 67 และ 1006 30 98 ซึ่งเป็นชนิดข้าวที่กัมพูชา

ส่งไปยังสหภาพยุโรป ขณะที่ข้าวหัก คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ชนิดข้าวที่เมียนมาร์ส่งไปยังสหภาพยุโรปจะเป็นข้าวหัก คิดเป็นร้อยละ 70-80 ของการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป ขณะที่กัมพูชาไม่ส่งออกข้าวหัก เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ โดยข้าวหักของกัมพูชาส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ เพราะจะได้ราคาที่สูงกว่า

สำนักงานบริการด้านการส่งออกข้าวของกัมพูชา (Secretariat of One Window Service for Rice Export Formality; SOWS-REF) รายงานว่า การส่งออกข้าวในปี 2561 มีจำนวน 626,225 ตัน ลดลงร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับจำนวน 635,679 ตัน ในปี 2560 โดยในเดือนธันวาคม 2561 กัมพูชาส่งออกข้าวจำนวน 128,985 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.63 เมื่อเทียบกับจำนวน 73,442 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2560 แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 106.59 เมื่อเทียบกับจำนวน 62,433 ตัน ในเดือนพฤศจิกายน 2561

ทั้งนี้ ในปี 2561 กัมพูชาส่งออกข้าวหอมทุกชนิด (Fragrant Rice) จำนวนรวม 493,597 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 79 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.27 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 394,027 ตัน ส่วนการส่งออกข้าวขาว (White Rice) มีจำนวน 105,990 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 17 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 32.34 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 156,654 ตัน และข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) จำนวน 26,638 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 4 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 68.66 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 84,998 ตัน

สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ ในปี 2561 ประกอบด้วย ตลาดสหภาพยุโรปจำนวน 269,127 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 2.77 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 276,805 ตัน ตามด้วยตลาดอาเซียนจำนวน 102,946 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 16 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.58 เมื่อเทียบกับ ปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 51,325 ตัน ตลาดจีนจำนวน 170,154 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 27 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 14.86 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 199,857 ตัน และตลาดอื่นๆ จำนวน 83,998 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 13 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 22.00 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 107,692 ตัน

ทั้งนี้ การส่งออกรายประเทศนั้น กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมากเป็นอันดับ 1 จำนวนประมาณ 170,154 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 14.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 199,857 ตัน ตามด้วยประเทศฝรั่งเศส 86,050 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.20 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 77,363 ตัน มาเลเซีย 40,861 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 38,360 ตัน โปแลนด์ 23,142 ตัน ลดลงร้อยละ 47.4 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 44,023 ตัน เนเธอร์แลนด์ 26,714 ตัน ลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับ ปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 27,175 ตัน สหราชอาณาจักร 18,178 ตัน ลดลงร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 26,775 ตัน กาบอง 33,060 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ส่งออกจำนวน 24,677 ตัน ส่วนประเทศอื่นๆ ที่กัมพูชาส่งออกในปี 2561 เช่น เวียดนาม 26,712 ตัน ไทย 23,816 ตัน เป็นต้น

ในปี 2560 กัมพูชาส่งออกข้าวปริมาณรวม 635,679 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่ส่งออกจำนวน 542,144 ตัน ซึ่งถือเป็นสถิติส่งออกข้าวสูงสุดของกัมพูชา โดยส่งไปยังประเทศจีนมากเป็นอันดับหนึ่งที่ปริมาณ 199,857 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.8 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ส่งออกจำนวน 127,460 ตัน อันดับที่ 2 คือฝรั่งเศส ปริมาณ 77,363 ตัน ลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ส่งออกจำนวน 78,329 ตัน อันดับที่ 3 คือโปแลนด์ ปริมาณ 44,023 ตัน ลดลงร้อยละ 31.2 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ส่งออกจำนวน 64,035 ตัน อันดับที่ 4 คือมาเลเซีย ปริมาณ 38,360 ตัน ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ส่งออกจำนวน 38,877 ตัน อันดับที่ 5 คือเนเธอร์แลนด์ ปริมาณ 27,175 ตัน ลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ส่งออกจำนวน 28,690 ตัน อันดับที่ 6 คือ สหราชอาณาจักร ปริมาณ 26,775 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.5 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ส่งออกจำนวน 17,673 ตัน

ที่มา : สมาคมผู้ผลิตข้าวไทย

อินโดนีเซีย

ผู้บริหารหน่วยงาน Bulog (Indonesia state food procurement agency) ระบุว่า ในปี 2562 นี้ อินโดนีเซียยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเข้าข้าว เนื่องจากในขณะนี้ Bulog มีสต็อกข้าว (ณ สิ้นปี 2561) ประมาณ 2.1 ล้านตันซึ่งเมื่อปีที่แล้วมีการจัดหาข้าวจากเกษตรกรในประเทศประมาณ 3.2 ล้านตัน และนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณ 1.84 ล้านตัน โดยการจัดหาข้าวของ Bulog จะเลือกวิธีการจัดหาข้าวจากเกษตรกรในประเทศก่อนที่จะใช้วิธีนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 56.54 ล้านตัน

ที่มา : สมาคมผู้ผลิตข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ