สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 18 - 24 มกราคม 2562
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด10 โครงการดังนี้
1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)
2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง
4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)
5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ
6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร
7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง
หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการได้แก่
1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการนบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก
(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น
(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิสัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,914 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,971 บาท บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,633 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,728 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.23
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,590 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,158 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,454 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,153 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,414 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 40 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,907 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,917 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 10 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,686 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,664 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 22 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,127 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,012 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.21 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 115 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.4800
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
รัฐบาลกัมพูชาระบุว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดอัตราภาษีข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชาและเมียนมาร์เป็นเวลา 3 ปี เพื่อควบคุมการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสหภาพยุโรประบุว่า กระทบต่อผู้ผลิตข้าวในสหภาพยุโรปนั้นถือเป็น อาวุธที่ทำร้ายเกษตรกรผู้ยากจนของกัมพูชา และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกคนหลายล้านคน
ขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชา (The ruling Cambodian People’s Party; CPP) ของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติทางการค้าที่จะส่งผลกระทบต่อชาวกัมพูชาที่ยากจนหลายล้านชีวิต
ในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกข้าวจากกัมพูชาไปยังปลายทางประเทศในสหภาพยุโรปเริ่มชะลอลง จากความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่สหภาพยุโรปจะประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชาและเมียนมาร์ในช่วงกลางเดือนนี้ โดยขณะนี้ผู้นำเข้าข้าวในสหภาพยุโรปกำลังรอฟังการพิจารณาอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปว่า จะประกาศมาตรการดังกล่าวออกมาอย่างไรบ้าง ทางด้านผู้ส่งออกข้าวกัมพูชาก็กังวลเกี่ยวกับการที่ผู้ซื้ออาจจะยกเลิกคำสั่งซื้อ หากสหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการทางภาษีสำหรับข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชา
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
อินโดนีเซียวางแผนการส่งออกข้าวในปีนี้ โดยหน่วยงาน Bulog สามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรมากขึ้น แม้ในปีที่ผ่านมา จะนำเข้าข้าว 2 ล้านตัน
ผู้อำนวยการ Bulog กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวจากอินโดนีเซีย และมีหลายประเทศพร้อมที่จะซื้อข้าวจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้การส่งออกข้าวที่มีประสิทธิภาพจะอยู่ระหว่าง ช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวสูงสุด คือช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจำเป็นต้องรับซื้อข้าวให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร
การสำรองข้าวของรัฐบาลที่คลังของ Bulog มีปริมาณถึง 2.1 ล้านตัน จากที่ตั้งเป้ารับซื้อข้าวจากเกษตรกร ในเดือนเมษายนที่ 1.8 ตัน ขณะที่คลังของ Bulog มีความจุได้สูงสุดที่ 3.6 ล้านตัน ดังนั้นจึงคาดว่าผลผลิตส่วนเกินในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีปริมาณ 300,000 ตัน
ปีนี้ Bulog แจกจ่ายข้าวให้กับผู้ยากจนปริมาณ 300,000 ตันเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ e-money ซึ่งสามารถนำไปซื้ออาหารที่ร้านค้าที่กำหนด ส่วนปีที่ผ่านมา Bulog ได้ดำเนินการจัดจำหน่ายข้าวปริมาณ 16 ล้านตัน และอีก 1.7 ล้านตัน มอบให้แก่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ The Nation
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร