สศก. ได้ติดตามและประเมินผลโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร พบว่า มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 202 แห่ง (ร้อยละ 40.4 ของเป้าหมาย) จำนวนสถาบันเกษตรกรได้ขอรับสนับสนุนเงินกู้ 5 แห่ง วงเงิน 18.32 ล้านบาท (ร้อยละ 0.51 ของวงเงิน) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ พบว่า สถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีเงินทุนการดำเนินงานอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เห็นว่าช่วยลดต้นทุน เกษตรกรได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ และมีความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยผสมเอง
จากการติดตามข้อมูล กลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านทุ่งสงคราม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี พบว่า ได้รับสนับสนุนสินเชื่อ 336,540 บาท มีจำนวนสมาชิก 33 ราย ทดลองใช้ปุ๋ยสั่งตัดในไม้ผล/ไม้ยืนต้น เฉลี่ยรายละ 4 ไร่ ได้นำผลการตรวจดิน และผสมแม่ปุ๋ยตามตารางผสมปุ๋ยที่ได้รับจากกรมวิชาการเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงถึงร้อยละ 30 รวมทั้งพืชมีลำต้นที่แข็งแรง และลดการระบาดของโรค สำหรับสหกรณ์การเกษตรสามชุก จำกัด อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับสินเชื่อวงเงิน 10 ล้านบาท ใช้ในการจัดหาแม่ปุ๋ย ดำเนินการผลิตปุ๋ยผสมตามสูตรที่สมาชิกสั่งซื้อ และจำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเฉลี่ยกระสอบละ 40 - 90 บาท ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 29 เช่นกัน
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในภาพรวม พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจระดับมากที่สุดในนโยบายของรัฐและชนิดปุ๋ยที่ผลิต เนื่องจากตรงต่อความต้องการทั้งด้านคุณภาพและราคาปุ๋ย ซึ่งเกษตรกรจะนำความรู้และเทคนิคไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั่วไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังต้องการองค์ความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยต้องการให้หน่วยงานภาครัฐ จัดทำแปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยสั่งตัด เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจ และเกิดการยอมรับภายในชุมชนต่อไป ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร