สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 15 - 21 มีนาคม 2562
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการดังนี้ (1) ด้านการผลิต* ได้แก่
1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)
2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์
3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง
4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)
5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ
6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร
7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง
หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 500 บาท ปรับเป็น “ให้เกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และสหกรณ์ได้รับตันละ 500 บาท”
(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น
(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,694 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,720 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.16
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,616 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,620 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.05
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,410 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.42
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,142 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,887 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,144 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,965 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 78 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,821 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 405 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,773 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.74 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 48 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,570 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 398 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,512 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.50 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 58 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,916 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 405 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,732 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.48 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 184 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.4246
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2561/62 ณ เดือนมีนาคม 2562 ว่าจะมีผลผลิต 501.565 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 495.867 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.15 จากปี 2560/61
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2561/62 ณ เดือนมีนาคม 2562 มีปริมาณผลผลิต 501.565 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ร้อยละ 1.15 การใช้ในประเทศ 491.972 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2560/61 ร้อยละ 1.91 การส่งออก/นำเข้า 47.849 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61ร้อยละ 0.58 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 172.190 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 2560/61 ร้อยละ 5.90
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ รัสเซีย อาร์เจนตินา จีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม อินเดีย กายานา แอฟริกาใต้ อุรุกวัย สหภาพยุโรป และพม่า
ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล กัมพูชา ไทย ปากีสถาน และปารากวัย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล เบนิน เซเนกัล ฟิลิปปินส์ อิรัก มาเลเซีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรส เบอร์กินา คาเมรูน เคนย่า เนปาล ไอเวอรี่โคสต์ สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย เม็กซิโก กินี ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย เวเนซุเอลา โมแซมบิค อิหร่าน กานา และจีน
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ไทย อินเดีย จีน และปากีสถาน
ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย (นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์) เผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยได้หารือกับผู้ส่งออกข้าวเวียดนามเพื่อทำหนังสือให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ยื่นประท้วงอินเดียกรณีใช้นโยบายการอุดหนุนการส่งออกข้าว 5% เช่น ข้าวกล้อง ข้าวนึ่ง ข้าวหัก ในอัตราร้อยละ 5 ของราคาส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้ประกอบการจากอินเดียสามารถส่งออกข้าวได้ในราคาที่ต่ำ เพราะมีรัฐบาลช่วยเหลือ ดังนั้นหากภาครัฐและเอกชนไม่ร่วมกันกดดัน จะทำให้ไทยส่งออกข้าวลำบาก และกล่าวว่า “ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้ส่งออกข้าวของเวียดนาม โดยมีความเห็นว่า การอุดหนุนผู้ส่งออกข้าวอินเดีย 5% นั้น ไม่เป็นธรรมต่อการแข่งขัน แม้ว่าอินเดียอ้างว่าจะไม่ขัดต่อระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ส่งออกข้าวไทยได้ทำเรื่องไปยังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแล้ว คงต้องรอภาครัฐพิจารณาว่าผิดหลัก WTO หรือไม่ และภาครัฐจะยื่นประท้วงอินเดียได้หรือไม่”
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยร่วมกับสมาชิก WTO เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ได้สอบถามเจ้าหน้าที่จากอินเดียระหว่างประชุมคณะกรรมการเกษตรสมัยสามัญของ WTO ที่นครเจนีวา ถึงกรณีที่อินเดียใช้มาตรการกระตุ้นการส่งออกข้าวด้วยการให้เงินอุดหนุนร้อยละ 5 เพื่อจูงใจผู้ส่งออก โดยจะเริ่มใช้ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 – 25 มีนาคม 2562 เนื่องจากไม่เป็นธรรมทางการค้า ซึ่งอินเดียได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการอุดหนุนการส่งออกเพื่อลดต้นทุนด้านการตลาดและค่าขนส่งในประเทศ เป็นการอุดหนุนการส่งออก ที่ยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถทำได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ , หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ภาวะราคาข้าวขาว 5% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทรงตัวที่ตันละ 355 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐบาลยังคงมาตรการรับซื้อข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้ในช่วงที่ผลผลิตข้าวฤดูหนาวบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงออกสู่ตลาดมาก โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดสูงสุดในช่วงนี้
สมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association) คาดว่า ปีนี้อิรักจะซื้อข้าวจากเวียดนามประมาณ 300,000 ตัน หลังจากตกลงซื้อไปแล้วประมาณ 120,000 ตัน และเมื่อเร็วๆ นี้ มาเลเซียได้ตกลงซื้อข้าวขาว 5% เพิ่มอีก 25,000 ตัน
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation; MRF) เชิญชวนให้บริษัทที่เป็นสมาชิกสมัครเข้าร่วมโครงการส่งออกข้าวภายใต้สัญญาขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (government-to-government; G to G) โดยบริษัทสมาชิกที่สนใจสามารถยื่นสมัครได้ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ โดยบริษัทนั้นๆ ต้องแจ้งรายละเอียดที่ตั้งของคลังสินค้า ความสามารถในการเก็บรักษา และชนิดข้าวที่ต้องการจะส่งออกด้วย นอกจากนี้ สหพันธ์กำลังพยายามช่วยเหลือสมาชิกในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งออกด้วย
ทั้งนี้ การประชุมสองฝ่ายระหว่างหน่วยงานของทั้งสองประเทศ (the Second China Myanmar Economic Corridor Forum) ณ มณฑลยูนานของจีน เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้แทนการเจรจาของรัฐบาลเมียนมาร์ ได้ขอให้รัฐบาลจีนเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากเดิมปีละ 100,000 ตัน เป็น 400,000 ตัน ซึ่งได้ร่างข้อตกลงแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด นอกจากนี้ ทางการเมียนมาร์ยังต้องการให้ทางการจีนปรับลดภาษีนำเข้าข้าวจากเมียนมาร์ จากเดิมที่ประมาณร้อยละ 60 เหลือเพียงร้อยละ 17-20 รวมทั้งขอให้มีการจัดสรรใบอนุญาตนำเข้าให้แก่เอกชนของจีน เพื่อนำเข้าข้าวจากเมียนมาร์ด้วย
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร