นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งประกอบด้วย ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ และดัชนีรายได้เกษตรกร โดยผลการวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2562 และแนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2562 พบว่า
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 146.09 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 145.17 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.63 โดยดัชนีผลผลิตในหมวดพืชผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35 หมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.54 และหมวดประมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.16
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 127.73 ลดลงจาก ไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 128.73 หรือลดลงร้อยละ 0.77 โดยดัชนีราคาในหมวดพืชผล ลดลงร้อยละ 4.20 และหมวดประมง ลดลงร้อยละ 11.24 ในขณะที่หมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.34
ดัชนีรายได้เกษตรกร ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 186.60 ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 186.88 หรือลดลงร้อยละ 0.15 โดยดัชนีรายได้เกษตรกรในหมวดพืชผล ลดลงร้อยละ 3.87 และหมวดประมง ลดลงร้อยละ 10.21 อย่างไรก็ตาม หมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.11
เมื่อพิจารณาสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในไตรมาส 1 ปี 2562 พบว่า กลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร ข้าวเปลือกสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.80 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.74 มันสำปะหลัง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.36 กลุ่มไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.64 ลำไย สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.65 และหมวดปศุสัตว์สุกร สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.04 ไก่เนื้อ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.81 และไข่ไก่ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.32
สำหรับรายได้เกษตรกรในกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ ประกอบกับความต้องการสินค้าเกษตรทั้งตลาดภายในประเทศและภายนอกประเทศ เช่น ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก และปริมาณข้าวที่ต้องการบริโภคภายในประเทศที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิโดยเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.37 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ประกอบกับภาครัฐมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2561/62 ในโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2561/62 ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ดังนั้น ภาพรวมรายได้เกษตรกรจึงเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าดังกล่าว
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 2 ปี 2562 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 148.39 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.24 และดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.86 โดยมีปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในขณะที่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร การเปลี่ยนแปลงดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร
อัตราการเติบโตของภาคเกษตร
หน่วย: ร้อยละ
สาขา ไตรมาส 1/2561 ไตรมาส 1/2562
(เดือนมกราคม – มีนาคม)
ภาคเกษตร 6.5* 0.5 พืช 8.6 0.1 ปศุสัตว์ 3.2 1 ประมง 0.2* 1.5 บริการทางการเกษตร 4.9 2.6 ป่าไม้ 2.1 2.2
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร