ส่องไม้ผลภาคใต้ตอนล่าง สศก. เตรียมจับตาใกล้ชิด ถ้าไม่กระทบแล้ง ปีนี้ผลผลิตชุก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 29, 2019 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ครั้งที่ 1 ปี 2562 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา รวมทั้งแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลจังหวัดในพื้นที่ ได้ประมาณการไม้ผลเศรษฐกิจ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ของไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และ เงาะ พบว่า ผลผลิตในภาพรวม 7 จังหวัด เพิ่มขึ้น ยกเว้น เงาะที่ผลผลิตลดลง เนื่องจากมีพื้นที่ให้ผลลดลง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตต่อไร่ ของทั้ง 4 ชนิดพืช มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพลำต้นสมบูรณ์พร้อมต่อการออกดอกติดผล ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่ต้นปี เป็นเหตุให้ไม้ผลออกดอก ติดผล เร็วและมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อจำแนกไม้ผลแต่ละชนิด (ข้อมูล ณ 19 มีนาคม 2562) พบว่า

ทุเรียน เนื้อที่ยืนต้น 132,463 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 11.49 เนื้อที่ให้ผล 101,843 ไร่ ลดลงร้อยละ 0.43 ปริมาณผลผลิตรวม 76,065 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.34 โดยผลผลิตต่อไร่ 747 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.81

มังคุด เนื้อที่ยืนต้น 53,111 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 2.97 เนื้อที่ให้ผล 49,236 ไร่ ลดลงร้อยละ 3.39 ปริมาณผลผลิต 27,739 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.44 โดยผลผลิตต่อไร่ 563 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.05

ลองกอง เนื้อที่ยืนต้น 119,132 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 15.92 เนื้อที่ให้ผล 117,134 ไร่ ลดลงร้อยละ 14.76 ปริมาณผลผลิต 45,504 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 117.40 ผลผลิตต่อไร่ 388 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 155.26

เงาะ เนื้อที่ยืนต้น 36,213 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 12.00 เนื้อที่ให้ผล 35,869 ไร่ ลดลงร้อยละ 11.36 ปริมาณผลผลิต 19,897 ตัน ลดลงร้อยละ 3.04 ผลผลิตต่อไร่ 555 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47

ด้านนายสุธรรม ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) กล่าวเสริมว่า ระยะเวลาที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดทั้ง 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คาดว่าผลผลิตจะเริ่มทยอยออกตั้งแต่ปลายเดือน มิถุนายนนี้ และออกมากสุดในเดือนสิงหาคม จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคช่วยกันสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2562 ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการเพื่อติดตามสถานการณ์ไม้ผลในแหล่งผลิตที่สำคัญของแต่ละจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน กระทบแล้งยาวอาจทำให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสถานการณ์ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จะได้ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนเมษายน ถึง ปลายเดือนเดือนมิถุนายน 2562 เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผลร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่ง นายสุธรรม กล่าวทิ้งท้าย

***********************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ