สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2019 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 22 - 28 มีนาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต* ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)

2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง

4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming)

5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร

7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด
  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก ตันละ 500 บาท ปรับเป็น “ให้เกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และสหกรณ์ได้รับตันละ 500 บาท”

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,641 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,694 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,654 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,616 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,450 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,410 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,141 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,873 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,142 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,887 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 14 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,916 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,821 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 95 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,670 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,570 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.75 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 100 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 414 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,016 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,916 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.72 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 100 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.4398

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย-บรูไน

ข้าวเป็นสินค้าสำคัญสำหรับการดำรงชีพของชาวบรูไน แต่ด้วยปริมาณการบริโภคในประเทศที่เกินศักยภาพการผลิต ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เห็นได้จากในปี 2559 บรูไนเพาะปลูกข้าวเพียงร้อยละ 4.5 ของการบริโภค

ในประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลมีแนวคิดส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวในประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร โดยตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตให้ได้ร้อยละ 20 ในปี 2563 ปัจจุบัน บรูไนนำเข้าข้าวจากทั้งไทยและกัมพูชาซึ่งการนำเข้าข้าวจากไทยมีมานานกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาภาคเอกชนผู้ส่งออกข้าว และหน่วยงานทางการเกษตรของไทย ให้ความช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกข้าวและทำการปศุสัตว์ โดยให้ข้อแนะนำเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดการน้ำ และพัฒนาดินแก่บรูไน ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยรักษาตลาดข้าวของไทย ให้ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคบรูไน ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นในภูมิภาค และแสดงถึงไมตรีจิตในฐานะมิตรประเทศในอาเซียนที่จะส่งผลดีถึงความสัมพันธ์ระหว่างบรูไนและไทยต่อไปในอนาคต จากความช่วยเหลือที่ผ่านมา บรูไนจึงมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกับไทยต่อไปเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยได้จัดตั้ง “โครงการ Kandol” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการจำแนกพื้นที่การเกษตรที่เหมาะสม สำหรับการทำนาข้าวเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ จากการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยละเอียดเมื่อปี 2554 พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการทำนาทั้งหมด 500 เฮกตาร์ เนื่องจากดินมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะเป็นดินตะกอนเกิดจากการทับถมจากแม่น้ำ 3 สายมีระบบจัดส่งน้ำ ระบบไฟฟ้า และถนนตัดสู่ถนนใหญ่ในระยะทาง 10 กิโลเมตร

รัฐบาลบรูไนจึงมีแผนลงทุนเตรียมพื้นที่ทั้งหมด จากเดิมซึ่งเป็นป่าไม้ให้เป็นที่ราบ ทำการก่อสร้างถนน รวมถึงระบบระบายน้ำและคันนา โดยมอบหมายให้บริษัท Darussaiam Assets ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของรัฐบาลบรูไน ภายใต้กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ จัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ PaddyCo เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว และประสงค์จะแสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุน (Technical Partner) เพื่อทำหน้าที่บริหารพื้นที่การเกษตรร่วมกับ Darussaiam Assets ในการให้คำปรึกษาทางวิชาการ ออกแบบจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงเพาะปลูกข้าว และผลิตข้าวให้มีปริมาณตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวบรูไน ได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนไทยมาร่วมลงทุนในบรูไน โดยเฉพาะในด้านการเกษตรและการเพาะปลูกข้าว เนื่องจากบรูไนยังไม่มีความเชี่ยวชาญทางการเกษตร ต้องการหาหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ ซึ่งรัฐบาลบรูไนพร้อมจะให้สัมปทานที่ดินกับบริษัทที่สนใจ โดยเอกชนสามารถร่วมหุ้นกับ Darussaiam Assets เพื่อปลูกข้าว ซึ่งหากมีภาคเอกชนไทยที่สนใจจะลงทุนด้านการเกษตรในพื้นที่โครงการ ทางบรูไนยินดีที่จะสนับสนุนเพื่อสร้างความร่วมมือต่อไป

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจบรูไน แจ้งว่า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนจากเวียดนามและกัมพูชาให้ความสนใจในโครงการดังกล่าว แต่เนื่องจากไทยเป็นประเทศชั้นนำทางการเกษตรและมีความชำนาญ ตลอดจนมีความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน ประกอบกับไทยให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรหลายด้าน จึงประสงค์ที่จะเชิญผู้ประกอบการด้านการเกษตรไทยเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการฯ ข้างต้น ซึ่งถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจการเกษตรของไทย ที่จะมีความร่วมมือกับบรูไนทั้งในเชิงธุรกิจ และการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารของบรูไนต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

เมียนมาร์

สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (The Myanmar Rice Federation; MRF) เรียกร้องให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกในการทำข้อตกลงที่จะเพิ่มโควตาการส่งออกข้าวอย่างเป็นทางการไปยังประเทศจีน โดยขอให้รัฐบาลเร่งเจรจาเพื่อเพิ่มจำนวนโควตาข้าวของเมียนมาร์ที่จะส่งไปยังประเทศจีนในปริมาณมากขึ้นจากเดิมที่ได้โควตาปีละ 100,000 ตัน (ลงนามไว้เมื่อปี 2559) เป็น 400,000 ตัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนทางแนวชายแดนมีปัญหาค่อนข้างมาก และมีความไม่แน่นนอน ขณะที่บางส่วนต้องยอมส่งออกข้าวอย่างผิดกฎหมาย เพราะมีโควตาไม่เพียงพอมีรายงานว่า ทางการจีนระงับการนำเข้าข้าวหักจากประเทศเมียนมาร์ที่ผ่านแนวชายแดน ขณะที่ข้อเท็จจริงคือใบอนุญาตส่งออกข้าวสามารถแบ่งออกเป็นใบอนุญาตข้าวหัก ใบอนุญาตข้าวเมล็ดยาว และใบอนุญาตข้าวเมล็ดสั้นทั้งนี้ ทางการจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวผ่านแนวชายแดน แต่ผู้ค้าข้าวเมียนมาร์ส่งออกข้าวภายใต้รายการข้าวหักซึ่งจะเสียภาษี (the export tax) ในอัตราเพียงร้อยละ 5 (สำหรับข้าวหัก) ขณะที่อัตราภาษีของข้าวสารอยู่ที่ร้อยละ50-60 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ผู้ค้าข้าวอาศัยความแตกต่างของอัตราภาษีของข้าวทั้งสองชนิด โดยแจ้งว่าเป็นการส่งออกข้าวหักแทนที่จะเป็นข้าวสาร ดังนั้น ทางการจีนจึงระงับการนำเข้าข้าวหักในช่วงนี้เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว จึงอนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะข้าวสารเท่านั้น โดยต้องแจ้งให้ถูกต้อง เช่น ข้าวเมล็ดยาวก็ต้องแจ้งว่าเป็นข้าวเมล็ดยาวเท่านั้น จะแจ้งเป็นข้าวชนิดอื่นไม่ได้

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ปากีสถาน

ทางการปากีสถานระบุว่า จากการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศจีน ในปีงบประมาณ 2561/62 (1 กรกฎาคม 2561-30 มิถุนายน 2562) ปากีสถานจะส่งออกข้าวจำนวน 350,000 ตัน ไปยังประเทศจีน ซึ่งข้อตกลงนี้แยกออกจากความตกลงเขตการค้าเสรี (the Free Trade Agreement; FTA) ของทั้งสองประเทศทั้งนี้ ตามข้อตกลงทางการค้าของสองฝ่าย ปากีสถานสามารถที่จะส่งออกน้ำตาล ข้าว และเส้นด้ายไปยัง ประเทศจีน โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ที่มายื่นขอก่อน ซึ่งปากีสถานเรียกร้องมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยขอให้จีนให้สิทธิพิเศษ ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์บางอย่างจากปากีสถาน ซึ่งจีนเคยให้แก่ประเทศบังคลาเทศ เวียดนาม อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียนแล้วคาดว่าทั้งสองประเทศจะสามารถสรุปผลการเจรจาเขตการค้าเสรีได้ ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ระหว่างการเดินทางเยือนของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีน

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ