ส่องเส้นทางตลาดทุเรียนในภาคตะวันออก จากเกษตรกรสู่ล้งและสหกรณ์ เพื่อกระจายผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 10, 2019 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทุเรียน ภายใต้โครงการศึกษาบทบาทของผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้ที่มีต่อผลไม้ไทย ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ระหว่างวันที่ 25 - 29 มีนาคม 2562 พบว่า ผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพส่วนใหญ่เกษตรกรจะจำหน่ายแบบเหมาสวนให้กับล้ง และเลือกจำหน่ายทุเรียนแก่ล้งที่ให้ราคาดีกว่า เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน ซึ่งขณะนี้ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียน (ล้ง) ได้เปิดทำการรับซื้อทุเรียนตั้งแต่ช่วงประมาณกลางเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา

สำหรับผลผลิตที่มีคุณภาพเกรด A และเกรด B ส่วนใหญ่บรรจุกล่องส่งออกตลาดจีน และเกรดพรีเมี่ยมส่งห้างสรรพสินค้าภายในประเทศ เช่น Tops , Makro และ The Mall โดยผลผลิต เกรด A และ เกรด B ราคารับซื้อเหมาสวน อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 115 – 130 บาท เกรด C กิโลกรัมละ 90 บาท และ เกรดรวม (คละไซส์ทุกลูก) กิโลกรัมละ 120 บาท ในขณะที่ เกรดพรีเมี่ยม กิโลกรัมละ 135 - 140 บาท ทั้งนี้ สำหรับ ผลผลิตตกเกรด ซึ่งส่วนใหญ่กระจายตลาดภายในประเทศ อยู่ที่กิโลกรัมละ 85 บาท

นอกจากนี้ เกษตรกร มีแนวโน้มการขายทุเรียนแบบออนไลน์ผ่าน Facebook และ Line มากขึ้น โดยมีการรับประกันคุณภาพและมีบริการจัดส่งผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทย และบริษัท เคอรี่ จำกัด ทำให้เกษตรกรได้รับราคาจำหน่ายสูงกว่าตลาดทั่วไป และหากขายยกกล่องตามน้ำหนักสามารถคละเกรดในการจำหน่ายได้ด้วย รวมถึงการขายแบบเหมาต้นทุเรียนในสวนราคากิโลกรัมละ 150 บาททุกลูก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากล้งจะเป็นผู้รวบรวมผลผลิตรายใหญ่จากเกษตรกรในพื้นที่แล้ว สหกรณ์การเกษตรหลายสหกรณ์ในภาคตะวันออกก็มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมผลผลิตทุเรียนจากเกษตรกรสมาชิก เป็นตัวกลางในการซื้อขายผลผลิต และการคัดคุณภาพระหว่างเกษตรกร และบริษัทคู่ค้าด้วย โดยมีการรับรองคุณภาพมาตรฐานและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับสูงกว่าตลาดทั่วไป และหากเกษตรกรรายใดที่มี GAP จะได้รับราคาจำหน่ายเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 2 บาท นอกจากนี้ บางสหกรณ์ยังมีห้องเย็นในการแปรรูปเป็นทุเรียนแช่แข็ง และแกะเปลือกส่งออกตลาดต่างประเทศ เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา อีกทั้งสามารถรองรับผลผลิตที่ตกเกรดจากการส่งออกได้ โดยราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 50 - 60 บาท รวมไปถึงการรับจ้างบรรจุภัณฑ์ (Packing) และให้เช่าสถานที่ในการคัดบรรจุกับบริษัทส่งออก ซึ่งในอนาคต คาดว่า การส่งออกทุเรียนแช่แข็งจะสามารถขยายตลาดต่อไปได้อีก

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า จากที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการ และเกษตรกรถึงระบบการตรวจสอบคุณภาพผลไม้ของจีน ซึ่งจะมีความเข้มงวดมากขึ้นนั้น ทำให้เกษตรกรมีความตื่นตัวในการขึ้นทะเบียน และรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อยื่นยืนยันที่โรงคัดบรรจุมากขึ้น โดยปี 2562 (ข้อมูลสะสม ณ วันที่ 29 มีนาคม 2562 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี) พบว่า มีจำนวนเกษตรกรภาคตะวันออกที่จดทะเบียนรับรองแหล่งผลิต (GAP) ทุเรียนแล้ว 4,121 ราย รวมพื้นที่ 55,953.12 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 77 ส่วนด้านโรงคัดบรรจุ จะต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) เพื่อยืนยันสำหรับการส่งออก โดยระบุรหัสโรงคัดบรรจุลงบนใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ปัญหาของเกษตรกร คือ แรงงานภาคเกษตรที่มีค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนแรงงานในสวนผลไม้และที่โรงคัด ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการดูแลรักษาต้นทุเรียน และค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมารดสวนเนื่องจากภัยแล้ง ดังนั้น เกษตรกรควรลดต้นทุน โดยการใช้ยาและสารเคมีตามความจำเป็น รวมทั้งภาครัฐให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อผลิตปุ๋ยหมัก และปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง มีการวางแผนให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน และบำรุงรักษาต้น เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ ตลอดจนการนับวันดอกบาน และกำหนดวันเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้มีทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสได้รับกำไรมากขึ้น และสามารถทำสวนผลไม้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

***********************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ