สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 12 - 18 เมษายน 2562
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการดังนี้
(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง
หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ
(2) ด้านการตลาด
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 500 บาท ปรับเป็น “ให้เกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และสหกรณ์ได้รับตันละ 500 บาท”
(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น
(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.5506
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2561/62 ณ เดือนเมษายน 2562 ว่าจะมีผลผลิต 501.387 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 495.486 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.19 จากปี 2560/61
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2561/62 ณ เดือนเมษายน 2562 มีปริมาณผลผลิต 501.387 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ร้อยละ 1.19 การใช้ในประเทศ 492.392 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2560/61 ร้อยละ 1.94 การส่งออก/นำเข้า 47.270 ล้านตันข้าวสาร ลดลง
จากปี 2560/61 ร้อยละ 0.84 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 171.366 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 2560/61 ร้อยละ 5.54 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา เมียนมาร์ จีน กายานา อินเดีย ปากีสถาน รัสเซีย แอฟริกาใต้ อุรุกวัย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล กัมพูชา อียู และสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา สหภาพยุโรป อิรัก ญี่ปุ่น เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เซเนกัล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรส และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ กานา กินี และอิหร่าน
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดว่าปี 2561/62 ศรีลังกามีผลผลิต 2.96 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาที่ฝนแล้ง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เนื่องจากปริมาณฝนตกเฉลี่ยในพื้นที่ผลิตหลัก ส่งผลให้พื้นที่เก็บเกี่ยวอยู่ที่ 1.1 ล้านเฮกแตร์ (ประมาณ 6.87 ล้านไร่) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลผลิตต่อไร่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.96 ตันต่อเฮกแตร์ ลดลงร้อยละ 8 เนื่องจากมีการระบาดของหนอนกระทู้ และประสบอุทกภัยในช่วงฤดู yala
ฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวของศรีลังกา แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือฤดู yala จะมีผลผลิตประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตทั้งหมด โดยเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม และฤดู maha เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม
กระทรวงเกษตรศรีลังกา เผยว่า ปี 2561/62 ผลผลิตข้าวน่าจะมีเพียงพอ แม้จะได้รับความเสียหายในฤดู yala ขณะที่คาดว่า พื้นที่เก็บเกี่ยวในฤดู maha มีประมาณ 0.8 ล้านเฮกเตอร์ (ประมาณ 5 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 26 ส่วนพื้นที่เก็บเกี่ยวในฤดู yala มีประมาณ 0.3 ล้านเฮกแตร์ (ประมาณ 1.87 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 54
ที่มา : World Grain Situation and Outlook, USDA ประจำเดือนเมษายน 2562
คาดว่าปี 2562 อินโดนีเซียจะนำเข้าข้าวลดลงประมาณร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และการที่อินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่แต่กลับนำเข้าลดลงนั้น อาจจะส่งผลต่อการค้าข้าวโลกในปี 2562 ด้วย นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ เช่น ไทย และเวียดนาม และในฐานะที่อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ อันดับ 4 ของโลก แต่การนำเข้าเพียงเล็กน้อยของอินโดนีเซีย สามารถส่งผลกระทบต่อตลาดโลก โดยปกติการนำเข้าของอินโดนีเซียจะมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนผลผลิต และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียพยายามรับซื้อผลผลิตจากต่างประเทศ เพื่อชดเชยสต็อก และดึงราคาในประเทศให้สูงขึ้น
สำหรับพื้นที่เพาะปลูก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แม้อินโดนีเซียจะมีประชากรจำนวนมากและกำลังเติบโต แต่คาดว่าการบริโภคโดยรวมในปี 2562 จะยังคงที่ เนื่องจากชาวอินโดนีเซียเปลี่ยนไปบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวสาลี และการเลือกอาหารที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอาหารเมื่อเร็วๆ นี้ ช่วยให้ประชากรของอินโดนีเซียสามารถเลือกอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากมีการลดช่องทางการกระจายลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ จากการนำเข้าข้าวปริมาณมากในปี 2561 ทำให้ปริมาณสต็อกของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น BULOG จึงลดปริมาณสต็อกของตนเองลง และคาดว่าจะลดลงอีกภายในปี 2562 เพื่อชดเชยการนำเข้าจำนวนมาก ขณะที่สต็อกปีต่อปีลดลงอยู่ในระดับที่เพียงพอที่ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า
ที่มา : World Grain Situation and Outlook, USDA ประจำเดือนเมษายน 2562
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร