สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 18, 2019 14:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 5 - 11 เมษายน 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการฯ ด้านการผลิตและการตลาด ทั้งหมด 10 โครงการดังนี้

(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ

(2) ด้านการตลาด

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

  • มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 500 บาท ปรับเป็น “ให้เกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และสหกรณ์ได้รับตันละ 500 บาท”

(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น

(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,668 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,675 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.05

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,785 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,712 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,670 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,139 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,964 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,135 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,819 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,040 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.5750

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

สำนักงานบริการด้านการส่งออกข้าวของกัมพูชา (Secretariat of One Window Service for Rice Export Formality; SOWS-REF) รายงานการส่งออกข้าวในเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวน 58,335 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.35

เมื่อเทียบกับจำนวน 52,861 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 50,683 ตัน

ในเดือนมีนาคม 2561 โดยชนิดข้าวที่ส่งออกในเดือนมีนาคม 2562 ประกอบด้วย ข้าวหอมเกรด Premium เช่น Phka Rumduol / Phka Malis จำนวน 28,333 ตัน ข้าวหอมอื่นๆ เช่น Senkraob, Neang Suay จำนวน 24,207 ตัน

ข้าวขาวเมล็ดยาวจำนวน 5,188 ตัน และข้าวนึ่งเมล็ดยาวจำนวน 607 ตัน

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวแล้ว 170,821 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 161,115 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยชนิดข้าวที่ส่งออกในช่วง 3 เดือนแรก ประกอบด้วย ข้าวหอมเกรด Premium เช่น Phka Rumduol / Phka Malis จำนวน 89,645 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) ข้าวหอมอื่นๆ เช่น Senkraob, Neang Suay จำนวน 63,109 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) ข้าวขาวเมล็ดยาว จำนวน 15,605 ตัน (ลดลงร้อยละ 43.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) และข้าวนึ่งเมล็ดยาวจำนวน 2,462 ตัน (ลดลงร้อยละ 68.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว)

สำหรับประเทศที่กัมพูชาส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนแรกของปี ประกอบด้วย ประเทศจีนมากเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 71,595 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) ประเทศฝรั่งเศส 20,258 ตัน (ลดลงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) ประเทศมาเลเซีย 9,473 ตัน (ลดลงร้อยละ 27.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) ประเทศเนเธอร์แลนด์ 4,560 ตัน (ลดลงร้อยละ 36.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) นอกจากนี้ยังส่งไปยังประเทศสเปน 4,383 ตัน และประเทศเยอรมนี 3,652 ตัน เป็นต้น

ทางด้านวงการค้าข้าว ระบุว่า แม้ว่าการส่งออกข้าวไปยังตลาดในสหภาพยุโรปจะลดลง แต่การส่งออกไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งนาย Hun Lak รองประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation; CRF) แสดงความเห็นว่า

การส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากกัมพูชา เป็น 400,000 ตัน ในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนในการเพิ่มการค้าระหว่างสองประเทศให้ได้ 32 พันล้านบาท ภายในปี 2566 (ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ตกลงกันในระหว่างพบปะกันเมื่อเดือนมกราคม ณ กรุงปักกิ่ง) พร้อมทั้งย้ำว่าผู้ส่งออกข้าวของกัมพูชาควรหันไปเน้นตลาดจีนมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปค่อนข้างทรงตัว แม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าข้าวของสหภาพยุโรปที่ประกาศใช้ไปเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา (เก็บภาษีนำเข้าปีแรกที่ 175 ยูโรต่อตัน หรือประมาณ 198 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และลดลงเหลือ 150 และ 125 ยูโรต่อตัน ในปีที่สองและสาม ตามลำดับ) เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความต้องการข้าวจากกัมพูชา แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างรุนแรง เพราะกัมพูชาต้องแข่งขันกับข้าวจากประเทศอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2561 มีการส่งออกข้าวจำนวน 626,225 ตัน ลดลงร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับจำนวน 635,679 ตัน ในปี 2560 โดยส่งออกข้าวหอมทุกชนิด (Fragrant Rice) จำนวนรวม 493,597 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.27 เมื่อเทียบกับจำนวน 394,027 ตัน ในปี 2560 ส่วนการส่งออกข้าวขาว (White Rice) มีจำนวน 105,990 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 32.34 เมื่อเทียบกับจำนวน 156,654 ตัน ในปี 2560 และข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) จำนวน 26,638 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 68.66 เมื่อเทียบกับจำนวน 84,998 ตัน ในปี 2560 สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ ในปี 2561 ประกอบด้วย ตลาดสหภาพยุโรปจำนวน 269,127 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 2.77 เมื่อเทียบกับจำนวน 276,805 ตัน ในปี 2560 รองมาคือ ตลาดอาเซียนจำนวน 102,946 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.58 เมื่อเทียบกับจำนวน 51,325 ตัน

ในปี 2560 ตลาดจีนจำนวน 170,154 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 14.86 เมื่อเทียบกับจำนวน 199,857 ตัน ในปี 2560 และตลาดอื่นๆ จำนวน 83,998 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของ

การส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 22.0 เมื่อเทียบกับจำนวน 107,692 ตัน ในปี 2560

ปี 2561 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมากเป็นอันดับ 1 จำนวนประมาณ 170,154 ตัน ลดลงร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับจำนวน 199,857 ตัน ในปี 2560 ลองมาคือ ประเทศฝรั่งเศส 86,050 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับจำนวน 77,363 ตัน ในปี 2560 มาเลเซีย 40,861 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 38,360 ตัน ในปี 2560 โปแลนด์ 23,142 ตัน ลดลงร้อยละ 47.4 เมื่อเทียบกับจำนวน 44,023 ตัน ในปี 2560 เนเธอร์แลนด์ 26,714 ตัน ลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 27,175 ตัน ในปี 2560 สหราชอาณาจักร 18,178 ตัน ลดลงร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 26,775 ตัน ในปี 2560 กาบอง 33,060 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 เมื่อเทียบกับจำนวน 24,677 ตัน ในปี 2560 ส่วนประเทศอื่นๆ ที่กัมพูชาส่งออกในปี 2561 เช่น เวียดนาม 26,712 ตัน และไทย 23,816 ตัน เป็นต้น

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เมียนมาร์

สมาคมผู้ค้าข้าวเปลือกและข้าวสารเมียนมาร์ (The Myanmar Rice and Paddy Traders’ Association)

กำหนดราคาขายส่งข้าวเมล็ดยาวไว้ที่ 19,500 จ๊าดต่อถุง 49 กิโลกรัม หรือประมาณ 410 บาท (ประมาณ 635 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) หลังจากราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปทานข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนทางแนวชายแดนลดลง และจากที่สหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าข้าวในอัตราสูง (เก็บภาษีเท่ากับกรณีของกัมพูชา)

ทั้งนี้ ราคาข้าวในประเทศปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 19,000 จ๊าดต่อถุง 49 กิโลกรัม เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม หลังจากสหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการทางภาษีกับเมียนมาร์และกัมพูชา ส่งผลให้ราคาข้าวปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ราคาประมาณ 26,000 จ๊าดต่อถุง 49 กิโลกรัม (ประมาณ 856 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ