สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 3 - 9 พฤษภาคม 2562
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
(1) ด้านการผลิต* ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และ 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง
หมายเหตุ * ด้านการผลิต เป็นโครงการที่หน่วยงานดำเนินการตามปกติ จึงไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณามาตรการฯ
(2) ด้านการตลาด
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
- มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 อนุมัติทบทวนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/61 ตามมติคณะกรรมการ นบข. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
(1) กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 500 บาท ปรับเป็น “ให้เกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และสหกรณ์ได้รับตันละ 500 บาท”
(2) เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น
(3) ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่านหรือถุง Big bag และวางเรียงในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บข้าวในยุ้งฉางที่ยกพื้นสูงหรือไซโล (SILO) ยกเว้นกรณีเทกองจะต้องมีระบบการระบายอากาศ เพื่อการรักษาคุณภาพข้าวเปลือกไม่ให้เสื่อมสภาพตลอดระยะเวลาโครงการ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,695 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,663 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,804 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,855 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,137 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,968 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,134 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,944 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 24 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,938 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,919 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,685 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,679 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 6 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,033 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,027 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 6 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.6341
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวขาว 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวอยู่ที่ตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดราชการของวันรวมชาติและวันแรงงานแห่งชาติ (the Reunification Day and Labour Day) ประกอบกับตลาดปิดทำการค้าขาย โดยวงการค้าคาดว่า ภาวะราคาข้าวหลังจากนี้ไม่น่าจะปรับลดลง เพราะคาดว่าอุปทานข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากการคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับเพาะปลูกในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn crop) มีปริมาณลดลง
มีรายงานว่า การเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (The EU-Vietnam agreement) ในส่วนของสินค้าข้าวนั้น สหภาพยุโรปจะสามารถนำเข้าข้าวจากเวียดนามในอัตราภาษี 0% ได้ประมาณ 75,000-80,000 ตัน ประกอบด้วยข้าวสาร 30,000 ตัน ข้าวเปลือก 20,000 ตัน และข้าวหอม 30,000 ตัน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปการเจรจาภายในปี 2562 นี้ คณะผู้แทนการค้าจากสมาคมอุตสาหกรรมอาหารของจีน (the China Food Industry Association; CNFIA) เดินทางมาเยือนเวียดนามเพื่อกระชับและส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ ระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคมนี้ โดยคาดว่าจะมีการลงพื้นที่แปลงนาในจังหวัด An Giang, Long An, และ Dong Thap เพื่อสำรวจสถานการณ์การผลิตข้าวของเวียดนามด้วย ซึ่งคณะผู้แทนประกอบด้วยผู้แทนจากหลายมณฑลของจีนที่มีความต้องการ
นำเข้าข้าวสูง เช่น Anhui, Guangdong, Yunnan และ Fujian ถือเป็นโอกาสอันดีของเวียดนามในการแนะนำเกี่ยวกับการผลิตข้าวและเครื่องหมายการค้าของเวียดนามในอุตสาหกรรมข้าวด้วย
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ธนาคารโลกรายงานว่า การส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังประเทศจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก หลังจากสหภาพยุโรป
กำหนดอัตราภาษีการนำเข้าข้าวจากประเทศกัมพูชาและเมียนมาร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเป็นเวลา 3 ปี เพื่อควบคุมปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากทั้งสองประเทศ และเพื่อปกป้องผู้ผลิตสหภาพยุโรปเช่น อิตาลี
ทั้งนี้ หลังจากมีการกำหนดอัตราภาษีแล้ว ข้าวของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปในเดือนกุมภาพันธ์มีปริมาณ 10,080 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 57.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเมื่อปี 2561 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังตลาดยุโรปประมาณ 270,000 ตัน หรือร้อยละ 43 ของปริมาณข้าวที่ส่งออกทั้งหมดในปี 2561
แม้ในภาพรวมปริมาณการส่งออกข้าวจากกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปจะลดลง แต่ถูกชดเชยจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกข้าวของประเทศไปตลาดจีน ซึ่งข้าวของกัมพูชาที่ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.6 ส่งผลให้การส่งออกข้าวโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้
ปัจจุบันกัมพูชายังคงได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปในโครงการ Everything But Arms (EBA)ที่ทำให้การส่งออกสินค้าของกัมพูชาปลอดภาษีทั้งหมดยกเว้นอาวุธ และมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกของกัมพูชา ทั้งหมดมีปลายทางคือสหภาพยุโรป โดยสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ประกอบด้วยสิ่งทอ รองเท้า และจักรยาน
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เริ่มกระบวนการที่ใช้ระยะเวลานาน 18 เดือน ซึ่งอาจนำไปสู่การระงับสถานะ EBA ของกัมพูชา เนื่องจากประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศ ซึ่งหาก EBA ถูกระงับ การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปของกัมพูชาจะลดลงอย่างมาก
ทางด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2562/63 (มกราคม-ธันวาคม 2562) ประเทศกัมพูชาจะมีการส่งออกข้าวประมาณ 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านตัน ในปี 2561/62 ซึ่งตัวเลขส่งออกดังกล่าวรวมการส่งออกข้าวผ่านทางแนวชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทยและเวียดนามด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออกอย่างเป็นทางการผ่านทางท่าเรือในปี 2561/62 ที่ผ่านมา มีจำนวน 626,225 ตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากในปีที่แล้วการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักมีจำนวนลดลงจากปีก่อน ขณะที่กัมพูชายังไม่สามารถหาตลาดส่งออกใหม่ได้ โดยการส่งออกข้าวส่วนใหญ่จะเป็นข้าวในกลุ่มข้าวหอม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79 ของการส่งออกทั้งหมด ตามด้วยข้าวขาวและข้าวนึ่ง ในสัดส่วนไม่มากนัก
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2562/63 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) กลุ่มประเทศในแอฟริกาใต้ตะวันตก ประกอบด้วย Senegal, Burkina Faso, Mali, และ Guinea จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 4.42 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 19.75 ล้านไร่ จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ภาวะราคาที่ดีและมีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากรัฐบาลเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเพาะปลูกข้าว ทางด้านการนำเข้านั้น คาดว่าในปี 2562/63 กลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีการนำเข้าประมาณ 3.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10.5 เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และมีการแข่งขันด้านราคาข้าวในตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อการนำเข้าข้าว
สำหรับประเทศเซเนกัล นั้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2562/63 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 550,000 ตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ที่มีจำนวน 540,000 ตัน จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ประกอบกับภาวะราคาข้าวในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีและรัฐบาล มีการสนับสนุนให้มีการเพาะปลูกข้าว ส่งผลให้แนวโน้มผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่การบริโภคข้าวในปี 2562/63 คาดว่าจะมีประมาณ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1.9 ล้านตัน ในปี 2561/62 เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น
ด้านการนพเข้าข้าว นั้น ในปี 2562/63 คาดว่าจะมีประมาณ 1.65 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1.575 ล้านตัน ในปี 2561/62 จากการที่คาดว่าความต้องการบริโภคข้าวจะเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาข้าวในต่างประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการนำเข้า ซึ่งตามปกติเซเนกัลจะนำเข้าข้าวจากประเทศอินเดีย ไทย บราซิล ปากีสถาน และจีน นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่น Mali, The Gambia, และ Mauritania
ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวจากประเทศไทยเริ่มลดลงนับตั้งแต่ปี 2560 หลังจากรัฐบาลห้ามการนำเข้าข้าวเต็มเมล็ด (whole grain rice) ซึ่งคำสั่งห้ามดังกล่าวมีผลทั้งกับข้าวหอมและข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวหอม (aromatic and non-aromatic rice) เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ และมาตรการนี้ยังคงมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงปี 2557-2560 รัฐบาลได้ดำเนินโครงการพึ่งพาผลผลิตข้าวในประเทศ (The 2014-2017 National Program for Self-Sufficiency in Rice; PNAR) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศและลดการนำเข้าข้าว อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และตามรายงานของแผนการใหม่ของรัฐบาลยังคงตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวให้ได้ตามเป้า เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร