สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2019 15:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 14 - 20 มิถุนายน 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565

(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/ เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,794 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,789 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.03

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,787 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,809 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,126 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,859 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,142 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,445 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.40 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 586 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,003 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,943 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 60 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,724 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,694 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,096 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,036 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 60 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9587

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เมียนมาร์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (the Deputy Commerce Minister) ระบุว่า รัฐบาลจีนตกลงที่จะนำเข้าข้าวจากเมียนมาร์เพิ่มเป็น 100,000 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (a memorandum of understanding; MoU) ระหว่างรัฐบาลของสองประเทศสำหรับการค้าแบบต่างตอบแทน ซึ่งมีการลงนามไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมาทั้งนี้ เมียนมาร์มีโรงสีข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและสามารถส่งข้าวไปยังประเทศจีนได้ จำนวน 11 แห่ง ขณะที่สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (the Myanmar Rice Federation; MRF) ระบุว่า ผู้ส่งออกข้าวจะต้องเร่งส่งออกข้าวให้ครบจำนวน 100,000 ตัน โดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะพิจารณาเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากเมียนมาร์เป็น 400,000-500,000 ตัน โดยที่สหพันธ์ฯ คาดว่าจะมีการเร่งทำสัญญาขายข้าวให้แก่จีนภายในเดือน มิถุนายน และส่งมอบตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกันยายนนี้

มีรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ (the Ministry of Commerce) จะอนุญาตให้บริษัทต่างชาติและ บริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ (foreign and joint venture) สามารถส่งออกข้าวและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะอนุญาตให้มีการส่งออกสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ 1) สินค้าเนื้อสัตว์และสินค้าประมง (Meat and Fishery)

2) สินค้าพืชผลที่มีการแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าแล้ว (Value added crops) เช่น เมล็ดข้าว ผงถั่วบด ผงงาบด แป้งข้าวโพด 3) กระดาษและเยื่อกระดาษ (Paper and pulp) 4) เมล็ดพันธุ์พืช (Seed) 5) สินแร่ (Refined Mineral) 6) สินค้าผลไม้แปรรูป ทั้งสำเร็จและกึ่งสำเร็จ (Finished products/ semi-finished products manufacturing from fruits) และ 7) สินค้าจากไม้/เฟอร์นิเจอร์ (Wood and furniture products)

ภายใต้กฎหมาย the Notification 24/2019 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จะออกใบอนุญาตส่งออกให้แก่บริษัทต่างชาติ (export licenses to foreign companies) ซึ่งบริษัทเหล่านั้น จะสามารถซื้อข้าวและสินค้าโภคภัณฑ์จากกลุ่มผู้ผลิตในเมียนมาร์และส่งออกได้ โดยการออกมาตรการนี้เป็นการเพิ่มคุณภาพการส่งออกของเมียนมาร์และส่งเสริมความต้องการของต่างชาติในสินค้าเมียนมาร์

การอนุญาตดังกล่าว ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถส่งออกสินค้าเกษตรที่มีการเพิ่มมูลค่าจากข้าว (value-added rice and broken rice) รวมทั้ง ถั่ว งา และข้าวโพด ซึ่งผู้ประกอบการค้าสินค้าข้าวท้องถิ่นบางรายมองว่า จะเป็นการเพิ่มการแข่งขันกับผู้ประกอบการเมียนมาร์ให้ตึงเครียดขึ้น เนื่องจากบริษัทต่างชาติจะมีเงินทุนจำนวนมาก และมีเครือข่ายทางการตลาดที่กว้างขวางมากกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็จะช่วยให้มีผู้ซื้อในตลาดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้า

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาร์ (the Myanmar Investment Commission) ออกใบอนุญาตให้บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ คือ Wilmar International จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Wilmar Myanmar Riceland Ltd. ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าเรือติลาวา (the Thilawa port) ในย่างกุ้ง เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น ข้าวสาร แป้งจากข้าว (rice flour) รำข้าว (rice bran) น้ำมันรำข้าว (rice bran oil) และแกลบข้าว (rice husks) เป็นต้น

ทั้งนี้ ช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 - พฤษภาคม 2562 เมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้วประมาณ 1.5 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งออกไปยังประเทศจีนทางแนวชายแดนประมาณ 1 ใน 3 และอีกประมาณร้อยละ 45 ส่งไปยังตลาดในสหภาพยุโรปและแอฟริกา

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

รัฐบาลตัดสินใจที่จะออกมาตรการรับซื้อข้าวเปลือกเพิ่มเติมจากเกษตรกรอีกประมาณ 250,000 ตัน ในช่วงฤดูการผลิต Boro (มกราคม-พฤษภาคม) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ ที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผลผลิตข้าวในปีนี้มีจำนวนมากเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศลดลงเป็นประวัติการณ์

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการรับซื้อข้าวสารและข้าวเปลือกรวมประมาณ 1.25 ล้านตัน (เป็นข้าวเปลือกประมาณ 150,000 ตัน) ในฤดูการผลิตปัจจุบัน โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา และสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ โดยรัฐบาลได้กำหนดราคาสำหรับข้าวเปลือกไว้ที่ 26 ทากาต่อกิโลกรัมหรือ ประมาณ 305 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวนึ่งกำหนดไว้ที่ 36 ทากาต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 423 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวนึ่งกำหนดไว้ที่ 38 ทากาต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 446 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มโครงการมาจนถึงขณะนี้ รัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรแล้วประมาณ 30,000 ตัน และยังคงต้องรับซื้ออีกประมาณ 120,000 ตัน เพื่อให้ครบตามเป้าเดิมที่ 150,000 ตัน ส่วนการรับซื้อข้าวสารจากโรงสีข้าวนั้น มีจำนวนประมาณ 382,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 35 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.1 ล้านตัน

เมื่อเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าข้าว (import duty on rice) เป็นร้อยละ 55 จากอัตราเดิมที่ร้อยละ 28 เพื่อจำกัดการนำเข้า และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศ เนื่องจากในปีนี้ผลผลิตข้าวมีจำนวนมากเกินความต้องการ ข้อมูลของทางการรายงานว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 - เมษายน 2562 ผู้ค้าข้าวเอกชน

มีการนำเข้าข้าวประมาณ 330,000 ตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินเดีย ในขณะที่รัฐบาลได้มีการจัดหาข้าวจากเกษตรกรมาเก็บสต็อกไว้เพื่อดึงอุปทานข้าวออกจากตลาดด้วย โดยมีการสร้างไซโลเก็บข้าวไว้ทั่วประเทศประมาณ 200 แห่ง

กรมส่งเสริมการเกษตร (The Department of Agriculture Extension; DAE) พยากรณ์ว่า ผลผลิตข้าวในฤดูการผลิต Boro ปี 2562 นี้ จะมีประมาณ 19.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 19.7 ล้านตัน ในปี 2561 ขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดว่า ในปีการผลิต 2561/62 บังคลาเทศจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 34.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 7 เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว ประกอบกับผลผลิตต่อไร่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ