สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 มิถุนายน 2562
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก
ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่
1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่
2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน
3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา
4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา
5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริม การปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล
ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่
(1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่
ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่
(1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565
(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว
(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62
(5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
(6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
(7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่
(1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ
(2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/ เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,774 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,794 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.13
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,762 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,787 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.32
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,125 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,333 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,126 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,859 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 526 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,001 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,003 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.42 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 2 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,726 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,724 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.45 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 2 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,001 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,096 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 95 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.5179
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2562/63 ณ เดือนมิถุนายน 2562 ว่าจะมีผลผลิต 497.616 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 499.074 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 0.29 จากปี 2561/62
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2562/63 ณ เดือนมิถุนายน 2562 มีปริมาณผลผลิต 497.616 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.29 การใช้ในประเทศ 495.950 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2561/62 ร้อยละ 1.02 การส่งออก/นำเข้า 47.545 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ร้อยละ 2.21 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 171.872 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.98
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน กายานา ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล เมียนมาร์ ปารากวัย และรัสเซีย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน กินี อิรัก เคนย่า โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรส ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อิยิตป์ อิหร่าน เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนประเทศ ที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวขาว 5% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ตันละ 340-345 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากตันละ 345-350 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ท่ามกลางภาวะตลาดที่เงียบเหงา เนื่องจากยังไม่มีการเสนอซื้อขายมากนัก แม้ว่าในช่วงนี้จะมีผลผลิตข้าวของฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn) เริ่มทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งวงการค้าคาดว่าการเก็บเกี่ยวจะแล้วเสร็จในอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (the Ministry of Industry and Trade) ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อพิจารณาโอกาสและอุปสรรคต่างๆ ในการส่งออกข้าว ซึ่งพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกข้าวยังไม่ค่อยดีนัก โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 แห่ง ประกอบด้วย จีน อินโดนีเซีย และ บังคลาเทศ มีจำนวนประมาณ 239,000 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 83 ขณะเดียวกัน
ผู้ส่งออกต่างพยายามมองหาตลาดส่งออกอื่นๆ ทำให้ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 2.76 ล้านตัน แต่คาดว่าหลังจากนี้ผู้ส่งออกจะเผชิญอุปสรรคอีกหลายประการ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ
ทั้งนี้ กรมการส่งออกและนำเข้า (the Export and Import Department) รายงานว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี เวียดนามส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนประมาณ 223,078 ตัน มูลค่าประมาณ 111.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศจีนมีสต็อกข้าวจำนวนมาก จึงทำให้ความต้องการนำเข้าในปีนี้ลดลง ประกอบกับทางการจีนมีมาตรการควบคุมการนำเข้าเข้มงวดมากยิ่งขึ้น นอกจากประเทศจีนจะลดการนำเข้าข้าวแล้ว จากการที่รัฐบาลมีการระบายสต็อกข้าวเก่าออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนหันมาส่งออกข้าวมากขึ้น และถือเป็นคู่แข่งที่ประมาทไม่ได้ในขณะนี้ ซึ่งประเด็นนี้ได้สร้างปัญหาให้แก่ประเทศไทยและอินเดียเช่นเดียวกัน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม ได้เสนอให้หน่วยงานรัฐบาลมุ่งเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพข้าวให้สูงขึ้น และมองหาตลาดให้หลากหลายมากขึ้น โดยจะต้องมีโครงการส่งเสริม การตลาดและพัฒนาผู้ส่งออกข้าวให้สร้างตราสินค้า และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (the National Grain Trade Center) สามารถขายข้าวได้ 342,839 ตัน จากที่นำข้าวออกประมูลประมาณ 790,316 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 43.38 ของปริมาณข้าวที่นำออกมาเสนอขาย) โดยราคาขายอยู่ที่ 1,774 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 256 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปี 2562 ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มกราคม-12 มีนาคม 2562 หน่วยงานด้านการสำรองธัญพืช (the State Administration of Grains and Reserves; SAGR) ของรัฐบาลจีนนำข้าวเก่าจากสต็อกรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ Indica ต้นฤดู (early indica rice) ออกเสนอขายประมาณ 7.24 ล้านตัน แต่สามารถขายออกได้เพียง 22,000 ตันเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่โรงสีข้าวจะซื้อข้าวฤดูใหม่สำหรับใช้แปรรูปเท่านั้น
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการสำรองธัญพืช (SAGR) เริ่มนำข้าวสายพันธุ์ Indica กลาง และปลายฤดู (mid-to-late indica rice) ออกเสนอขายก่อนกำหนดเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อลดภาระการสต็อกข้าวของรัฐบาล อย่างไรก็ตามคาดว่าการจำหน่ายข้าวจะล่าช้าออกไปจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่การเสนอขายข้าวสายพันธุ์ Japonica ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำมาเสนอขายในช่วงเวลาใด
ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 ธันวาคม 2561 ได้มีการจัดประมูลขายข้าวออกไปได้ ประมาณ 8.5 ล้านตัน (ไม่รวมข้าวที่ประมูลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม) กรมศุลกากรจีน (General Administration of Customs of the People's Republic of China; GACC) รายงานว่า การส่งออกข้าวในเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณ 0.343 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปริมาณ 0.350 ล้านตัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 236 เมื่อเทียบกับปริมาณ 0.102 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-พฤษภาคม 2562) ประเทศจีนส่งออกข้าวประมาณ 1.172 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 448.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 94 และร้อยละ 47 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ความคืบหน้าของโครงการรับซื้อข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2562 และสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ นับจนถึงขณะนี้ รัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกช่วงของฤดูการผลิต Boro (มกราคม-พฤษภาคม) จากเกษตรกรแล้วประมาณ 400,000 ตัน ซึ่งเกือบครบตามเป้าหมายที่กำหนดแล้ว ส่วนการรับซื้อข้าวสารจากโรงสีข้าวนั้น สามารถจัดซื้อได้แล้วประมาณร้อยละ 42 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.1 ล้านตัน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในช่วงของฤดูการผลิต Boro ซึ่งเป็นหนึ่งใน มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศที่ลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวในปีนี้มีจำนวนมากเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศลดลงเป็นประวัติการณ์ โดยรัฐบาลได้กำหนดราคาสำหรับข้าวเปลือกไว้ที่ 26 ทากาต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 305 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สำหรับข้าวนึ่งกำหนดไว้ที่ 36 ทากาต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 423 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวนึ่งกำหนดไว้ที่ 38 ทากาต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 446 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
กรมส่งเสริมการเกษตร (The Department of Agriculture Extension; DAE) พยากรณ์ว่า ผลผลิตข้าวในฤดูการผลิต Boro ในปี 2562 นี้ จะมีประมาณ 19.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 19.7 ล้านตัน ในปี 2561 ขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดว่า ในปีการผลิต 2561/62 บังคลาเทศจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 34.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 7 เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว ประกอบกับผลผลิตข้าวต่อไร่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร