สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 15, 2019 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 5 - 11 กรกฎาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่

(1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่)

(2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43

(3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง

(4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

(5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์

(6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ

(7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง

(8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map)

(9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย

(10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่

(1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่

(1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร

(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565

(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62

(5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว

(6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

(7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่

(1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ

(2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว

(3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,493 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,726 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.48

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,687 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,771 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.09

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,810 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,850 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.11

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,290 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,470 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.56

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,107 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,750 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 1,134 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,462 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.38 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 712 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,561 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,733 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.67 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 172 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,378 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,551 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.69 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 173 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,652 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,855 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.89 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 203 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.4876

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าทำให้ภาวะราคาข้าวไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เฉลี่ย 5-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่งผลให้มีช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและประเทศคู่แข่งมากขึ้นโดยราคา ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2562 ข้าวหอมมะลิไทยชนิดคัดพิเศษ (ปี 2560/61) ตันละ 1,225 ดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (19 มิถุนายน 2562) ที่ราคาตันละ 1,209 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวสาร 100% ชั้น 2 ราคาตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากตันละ 436 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวสาร 25% ราคาตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวเหนียว 10% ราคาตันละ 1,030 ดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากตันละ 1,017 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ราคาข้าวขาว 5% ตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 5 ขณะที่เว็บไซต์ oryza.com รายงานว่าราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม และอินเดีย ทรงตัวอยู่ที่ตันละ 373-377 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปากีสถานราคาอ่อนตัวลงอยู่ที่ตันละ 358-362 ดอลลาร์สหรัฐ

ช่วงนี้ภาวะการค้าในตลาดส่งออกค่อนข้างซบเซา เนื่องจากประเทศผู้ซื้อยังคงมีสต็อกข้าวที่นำเข้าไปก่อนหน้านี้เพียงพอแล้ว จึงยังไม่เร่งรีบซื้อเพิ่มเติม และบางส่วนรอดูราคาก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ขณะนี้การแข่งขันในตลาดส่งออกมีมากขึ้นจากการที่ประเทศจีนมีบทบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ลดลงทำให้ทั้งไทยและอินเดียสูญเสียส่งแบ่งตลาดบางส่วน โดยเฉพาะตลาดแอฟริกาให้แก่จีน ซึ่งปีนี้คาดว่าจีนจะส่งออกได้มากกว่า 3 ล้านตัน

สำหรับประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย โดย 5 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกปริมาณ 4.64 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 13 เวียดนาม ส่งออกปริมาณ 2.61 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 18 ปากีสถาน ส่งออกปริมาณ 1.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 สหรัฐ ส่งออกปริมาณ 1.21 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 14.6

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-พฤษภาคม)ปริมาณ 3,779,313 ตัน มูลค่า 62,418 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 14.8 และร้อยละ 12.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณ 667,257 ตัน มูลค่า 11,348 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 5.1 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว เนื่องจากการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลงค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแองโกลา แคเมอรูน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เบนิน ฟิลิปปินส์ เคนยา โตโก โมซัมบิก สำหรับข้าวหอมมะลิ มีปริมาณ 84.852 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาคมฯ คาดว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7 แสนตัน โดยคาดว่าในช่วงนี้จะเป็นการส่งมอบทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งให้กับตลาดประจำในแถบแอฟริกา เช่น เบนิน แองโกลา แอฟริกาใต้ แคเมอรูน โมซัมบิก เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐ ฮ่องกง แคนาดา ยังคงมีอย่างต่อเนื่องแม้ว่าปริมาณข้าวหอมมะลิจะลดลงแต่การส่งออกข้าวหอมไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

กัมพูชา

ยอดการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปอียูลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หลังอียูกำหนดอัตราภาษีนำเข้า แต่ยอดจำหน่ายข้าวให้แก่ตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้น จึงช่วยชดเชยในส่วนที่ส่งออกไปอียูลดลงได้ข้อมูลจากสำนักงานบริการด้านการส่งออกข้าวของกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มทำงานร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน ระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ปริมาณข้าวที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) ลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 93.503 ตัน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณข้าวส่งออกไปยังตลาดจีนกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 118,401 ตัน ขณะที่ยอดส่งออกข้าวรวมทั้งหมดมีปริมาณ 281,538 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยประเทศออสเตรเลียเป็นตลาดใหม่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อียูได้กำหนดอัตราการจ่ายภาษีศุลกากรเพื่อนำเข้าข้าวจากกัมพูชาและพม่า เป็นเวลา 3 ปี ด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องประเทศผู้ผลิตข้าวจากอียู เช่น อิตาลี หลังจากที่อียูมีการนำเข้าข้าวจากทั้ง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นนายคานคุนธี รองประธานบริษัท อัมรู ไรซ์ (กัมพูชา) ที่ส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศ ระบุว่า อัตราภาษีศุลกากรของอียูทำให้ข้าวของกัมพูชาไม่สามารถที่จะแข่งขันได้อีกต่อไป“แม้ปริมาณการส่งออกไปยังอียูลดลง หลังมีมาตรการป้องกัน แต่ยอดส่งออกไปตลาดจีน และตลาดใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งออสเตรเลียกำลังเข้ามาช่วยชดเชย”พร้อมเสริมว่า บริษัทอัมรูบรรลุข้อตกลงกับผู้นำเข้าข้าวออสเตรเลีย และคาดว่าจะส่งออกปีละประมาณ 2 หมื่นตัน และในช่วง 6 เดือนแรกของปี ยอดขายข้าวให้แก่ออสเตรเลียอยู่ที่ 8.035 ตัน ภายใต้โครงการการค้า “ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์” (อีบีเอ) การส่งออกของกัมพูชาไปยังอียูทั้งหมดเป็นแบบปลอดภาษี ยกเว้น อาวุธ โดยตลาดอียูครองสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ที่ประกอบด้วย เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และรถจักรยาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์อียูได้เริ่มกระบวนการพิจารณาระยะเวลา 18 เดือน ที่อาจนำไปสู่การระงับสถานะอีบีเอของกัมพูชา จากประวัติด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ