สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 12 - 18 กรกฎาคม 2562
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก
ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่
1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่
2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน
3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา
4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา
5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง(8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล
ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่
ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,456 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,493 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,688 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,687 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.02
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,810 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.06
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,250 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,290 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.6259
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวขาว 5% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ตันละ 335-340 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นตันละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ราคาอยู่ที่ตันละ 330-335 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ความต้องการข้าวขาวจากต่างประเทศชะลอตัวลง มีเพียงข้าวหอมที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องกรมการผลผลิตเกษตร (the Department of Crop Production) รายงานว่า ผลผลิตข้าวฤดูการผลิต ฤดูร้อน (the summer-autumn crop) ในพื้นที่เพาะปลูกทางภาคใต้ของประเทศ ปีนี้คาดว่ามีประมาณ 9.2 ล้านตัน ลดลงประมาณ 23,000 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ประมาณ 10.25 ล้านไร่ ลดลง 287,500 ไร่ จากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าผลผลิตข้าวหอม และข้าวชนิดพิเศษ จะมีผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 24.8 ข้าวคุณภาพสูงร้อยละ 44 ข้าวคุณภาพปานกลางร้อยละ 19 ส่วนที่เหลือเป็นข้าวเหนียวและข้าวชนิดอื่นๆ
ขณะเดียวกัน กรมการผลผลิตเกษตรกำลังพิจารณาให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชทดแทนในช่วงฤดูเพาะปลูกฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว (the autumn-winter rice crop) ซึ่งถือเป็นฤดูการผลิตที่ 3 หรือนาปรังรอบที่ 2 โดยทางเลือกที่ 1 ให้เพาะปลูกข้าวประมาณ 4.69 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวประมาณ 4 ล้านตัน และทางเลือกที่ 2 ให้ปลูกข้าวประมาณ 4.38 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวประมาณ 3.8 ล้านตัน และปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ในพื้นที่ประมาณ 62,500 ไร่
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (The Cambodian Rice Federation; CRF) กำลังวางแผนส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกา โดยผ่านบริษัทตัวแทนจากประเทศเกาหลีใต้เพื่อชดเชยการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มลดลงจากมาตรการภาษีของสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ จากการหารือของผู้แทนสหพันธ์ข้าวกัมพูชากับผู้บริหารจากบริษัทของเกาหลีใต้ ซึ่งได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนทำธุรกิจส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกา มีการรับซื้อข้าวจากตลาดในประเทศและดำเนินการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกาตามชนิดข้าวที่ตรงตามความต้องการของตลาดนั้นๆ โดยเน้นว่าราคาจะต้องอยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกของกัมพูชาแสดงความกังวลว่า กัมพูชาอาจจะยังไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับ ประเทศไทย และเวียดนามได้ เนื่องจากราคาข้าวขาวของกัมพูชาอยู่ที่ตันละประมาณ 430-460 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวขาวของไทย และเวียดนามอยู่ที่ตันละประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐ
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-มิถุนายน) กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกาประมาณ 20,000 ตันเท่านั้น
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร