นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเกษตรภายใต้กรอบ BIMSTEC ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 10 - 12 กรกฎาคม 2562 ณ กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมา โดยมี ดร. อัง ทู รัฐมนตรีเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานของเมียนมา เป็นประธานการประชุม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนายอานัติ วิเศษรจนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม และมีรัฐมนตรีเกษตร และเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเกษตรของสมาชิก BIMSTEC จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และ ไทย ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
การประชุมดังกล่าว ถือเป็นการยกระดับกลไกการทำงานในระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งแรกของความร่วมมือสาขาเกษตร ภายใต้กรอบ BIMSTEC โดยมีเมียนมาเป็นประเทศนำ (Lead Country) ของความร่วมมือ สาขาเกษตร ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของผู้นำ BIMSTEC เมื่อคราวประชุมสุดยอดผู้นำเดือนสิงหาคม 2561 ณ ประเทศเนปาล
ในการนี้ รัฐมนตรีเกษตรของประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้รับรองแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรภายใต้กรอบ BIMSTEC ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การเกษตรเพื่อความมั่งคั่งด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ” อีกทั้งเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาเกษตร สามารถส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรแบบดั้งเดิมลดต้นทุน เสริมสร้างรายได้ ขจัดความยากจน ลดความเสี่ยงของชุมชนเกษตร และเสริมสร้างการค้าสินค้าเกษตรรวมถึงช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ปัจจุบัน ประเทศไทยและภูมิภาค BIMSTEC มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยระหว่างกันประมาณ 19 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็นการค้าสินค้าเกษตรประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าของสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับ BIMSTEC ในช่วงปี 2559 - 2561 เฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าทางการเกษตรที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC โดยสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออก ได้แก่ น้ำตาล เครื่องดื่มประเภทนม น้ำมันปาล์มดิบยางธรรมชาติ และอาหารปรุงแต่ง สำหรับสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากภูมิภาค BIMSTEC เช่น ปลาและสัตว์ทะเลแช่แข็งพริกแห้งหรือพริกป่น โคกระบือมีชีวิต กากน้ำมัน และถั่วลิสง
ทั้งนี้ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) เกิดจากการริเริ่มของไทยตั้งแต่ ปี 2540 อันเป็นกรอบความร่วมมือที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก และมีจำนวนประชากรรวมกันมากถึง 1,600 ล้านคน นับเป็นตลาดทางการค้าที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ โดยเอเชียใต้เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรที่สำคัญอยู่มาก อาทิ ก๊าซธรรมชาติ และศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก BIMSTEC และพร้อมผลักดันโครงการร่วม ด้านการเกษตร ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกให้มีความก้าวหน้าและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลของการพัฒนาไปพร้อมกันอย่างมีศักยภาพ
*******************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร