สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 25, 2019 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 19 - 25 กรกฎาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง(8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ(2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,532 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,456 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,718 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,688 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.39

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,650 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 33,450 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.60

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,250 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,139 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,857 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,700 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,486 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,792 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.6034

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2562/63 ณ เดือนกรกฎาคม 2562 ว่าจะมีผลผลิต 497.817 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 498.651 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 0.17 จากปี 2561/62

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2562/63 ณ เดือนกรกฎาคม 2562 มีปริมาณผลผลิต 497.817 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.17 การใช้ในประเทศ 496.076 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2561/62 ร้อยละ 1.23 การส่งออก/นำเข้า 47.195 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.94 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 172.649 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 1.02

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน กายานา ไทย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล เมียนมาร์ ปากีสถาน และปารากวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน กินี อิรัก เคนย่าโมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลงได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

โรงสีผนึกรัฐวางแนวทางตรวจสอบ “ข้าว กข79” สกัดปัญหาปลอมปนข้าวหอมมะลิ หวั่นพันธุ์ข้าวเปลือกออกจากแปลงทดลองแพร่ “บิ๊กส่งออก” ประเดิมซื้อลอตแรกร่วมหมื่นตัน ปักธงตลาดจีน ดันราคาเฉียด 500 ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ภายหลังจากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้การรับรองสายพันธุ์ข้าวเจ้าสายพันธุ์ใหม่ คือ ข้าว กข79 ซึ่งเป็นข้าวขาวพื้นนิ่มที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามคำเรียกร้องของ

ผู้ส่งออกเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ เป็นสินค้าไฟติ้งโปรดักต์ของไทย เพื่อสู้กับข้าวขาวพื้นนิ่มของประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามที่ได้พัฒนาข้าวขาวพื้นนิ่มนับ 10 สายพันธุ์ เช่น หอมพวงเวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทย จนได้รับความนิยมในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ส่งผลให้ผู้ส่งออกหลายรายกังวลว่าอนาคตข้าวขาวพื้นนิ่มเวียดนามอาจมาแย่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยไป เพราะราคาข้าวหอมมะลิสูงกว่า ขณะที่ราคาข้าวขาวถูกกว่า แต่เป็นข้าวขาวพื้นแข็ง เช่น เสาไห้เจ๊กเชย ซึ่งคุณภาพความนุ่มน้อยกว่าข้าวขาวพื้นนิ่ม

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรได้ร่วมโครงการในระยะทดลองปลูกและทำการตลาดข้าว กข.79 ประมาณ 9,000 ไร่

ในพื้นที่ 7 จังหวัด เช่น พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยคาดว่าผลผลิตที่ได้ประมาณ 5,000 ตัน ที่จะส่งออกสู่ตลาด โดยขณะนี้มีผู้จองซื้อหมดแล้ว เพื่อนำไปส่งออกที่ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ ในเดือนตุลาคมนี้ ราคาตันละ 8,000-8,500 บาท

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีกล่าวว่า กรณีดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการโรงสีเกิดความกังวลว่า ลักษณะทางกายภาพข้าวเปลือก กข79 อาจจะไปปลอมปนกับข้าวหอมมะลิ 105 ที่มีราคาสูงกว่า จึงได้ร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาตรการป้องกัน เบื้องต้นกรมการข้าวและกระทรวงพาณิชย์วางแผนจำกัดพื้นที่เพาะปลูกบางพื้นที่เท่านั้น โดยใช้ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งชาวนากับผู้ซื้อเพื่อป้องกันการปลอมปน พร้อมกับได้หารือถึงกระบวนการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์แยกประเภทข้าว ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การตรวจสอบอมิโรสในพันธุกรรมข้าว (ตรวจดีเอ็นเอ) วิธีนี้จะใช้ระยะเวลานานและมีต้นทุนการตรวจสอบสูง ล่าสุดทางโรงสีแจ้งกลับถึงวิธีการตรวจสอบข้าวทั่วไป แต่ต้องปรับลดระยะเวลาการต้มให้สั้นลง เช่น จากเดิมเคยต้ม 16-17 นาที แล้วมากดกระจกก็ให้ลดลงเหลือ 14-15 นาที แล้วนำมากดกับกระจก เปรียบเทียบผลการตรวจสอบด้วยวิธีการดังกล่าว พบว่า ข้าว กข79 มีลักษณะที่มีไตสีขาวขุ่นในเมล็ดข้าว แต่หากเป็นข้าวหอมมะลิ 105 จะไม่มีไตสีขาว

“โรงสีมีความกังวลเพราะความนิยมข้าวดังกล่าวเริ่มจะแพร่หลายออกไปเกษตรกรมองว่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า เช่น หากเทียบการลงทุนปลูกข้าวนาปีไร่ละ 3,500 บาทเท่ากัน ผลผลิตต่อไร่ของข้าวหอมมะลิได้ 350-400 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ข้าวขาว กข79 ได้ 1-1.2 ตันต่อไร่ มากกว่ากันเกือบ 3 เท่า แม้ว่าจะขายได้ราคาถูก เช่น กข79 ได้ตันละ 9,000 บาท หอมมะลิได้ตันละ 10,000 บาท แต่เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ปลูก กข79 ลงทุน 3,500 บาท ได้ผลผลิต 1 ตัน ราคา 9,000 บาท แต่ข้าวหอมมะลิลงทุน 3,500 บาท ได้ผลผลิต 400 กิโลกรัม หรือประมาณ 4,000 บาทต่อไร่เท่านั้น” ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้มีกระแสข่าวว่า ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์บางรายได้เริ่มพัฒนาพันธุ์ข้าว กข79 ไว้ เพื่อทำตลาดให้เกษตรกรสำหรับฤดูกาลหน้าแล้ว ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าการแพร่กระจายออกไปมากน้อยเพียงใด แม้ว่าในปีแรกกรมการข้าวจะจำกัดพื้นที่ปลูก แต่คาดว่า ปี 2562/63 จะมีพื้นที่ปลูกมากขึ้นจาก 9,000 ไร่ เป็น 400,000 ไร่ จึงต้องมีการวางระบบการตรวจสอบเพื่อรองรับอีกชั้นหนึ่ง

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยหลายราย และผู้ประกอบการโรงสีหลายรายเตรียมนำร่องรับซื้อผลผลิตข้าวขาวพื้นนิ่ม กข79 ลอตแรกแล้ว

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องทดลองซื้อเพื่อทำการตลาดข้าวขาว กข79 ซึ่งลอตแรกคาดว่าจะออกในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 4,000-5,000 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 1.2 ตัน รวมประมาณ 5,000-6,000 ตัน โดยเงื่อนไขการรับซื้อครั้งนี้จะนำราคาตลาดตันละ 500 บาท ซึ่งเมื่อนำไปสีแปรและส่งออกเป็นข้าวสารจะอยู่ที่ประมาณตันละ 400-500 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบได้กับข้าวขาวพื้นนิ่มของเวียดนาม จะทดลองทำตลาดส่งออกไปยังประเทศจีนก่อน หากประสบความสำเร็จก็จะมีการปลูกลอตต่อไป

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเชีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดส่งออกมีความต้องการข้าวขาว กข79 จึงได้ทดลองทำตลาดตั้งแต่ช่วงต้นปี ประมาณ 2,000 ตัน โดยซื้อจากโรงสีสุพรรณบุรี ในราคาใกล้เคียงกับข้าวขาว และเริ่มส่งออกไปยังตลาดจีนในตลาดตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับราคาข้าวขาวพื้นนิ่มของเวียดนาม เท่าที่ทราบในช่วง 4-5 เดือนแรก การส่งออกข้าวขาวพื้นนิ่มชนิดนี้ยังมีปริมาณหลักพันตัน แต่คาดว่าทั้งปีนี้จะสามารถส่งออกได้เป็นหลักหมื่นตัน

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การผลิตและการส่งออกข้าวขาว กข79 ตามโครงการที่ร่วมกันช่วงเริ่มต้นในปีแรก คาดว่าจะมีปริมาณหลักพันตัน ซึ่งคาดว่าโรงสีจะเข้ามาแย่งซื้อเพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศก่อน คงไม่มีเหลือเพียงพอสำหรับส่งออก แต่รอบถัดไปที่จะออกในเดือนธันวาคมน่าจะมีปริมาณมากขึ้น แต่ก็อาจจะมีบางรายที่ได้ทำสัญญาคอนแทรคฟาร์มมิ่งไว้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของบริษัท อุทัยโปรดิวส์ ก็มีทำสัญญาไว้กับทาง จ.สุพรรณบุรี ประมาณ 3,000 ไร่ คาดว่าจะนำส่งออกตลาดจีนได้ราคาเทียบกับข้าวขาวตันละ 400-500 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวขาว 5% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นตันละ 10-15 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ตันละ 335-340 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผู้ส่งออกต่างเร่งซื้อข้าวเพื่อส่งมอบให้กับผู้ซื้อจากฟิลิปปินส์และแอฟริกา ประกอบกับการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn) ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงสิ้นสุดลงแล้ว ทำให้อุปทานข้าวในตลาดมีจำกัด โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 3.36 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

กัมพูชามีแผนขยายตลาดส่งออกข้าวไปยังแอฟริกา เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวและหาตลาดใหม่ๆ ทดแทนการส่งออกข้าวไปตลาดยุโรป ซึ่งจากการหารือระหว่างผู้แทนสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) และนาย George Kim J H ประธานบริษัท JS Global Corporation บริษัทผู้ผลิตและส่งออกข้าวจากประเทศเกาหลีใต้และคณะ ผู้แทนจากบริษัทส่งออกข้าวขนาดเล็ก-กลางของรัฐบาลเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น นาย Kim ประธานบริษัทฯ เปิดเผยว่า มีความสนใจในการเข้ามาลงทุนเปิดดำเนินการบริษัทส่งออกข้าวในกัมพูชาเพื่อส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา โดยข้าวที่บริษัทฯ มีความสนใจที่จะซื้อและส่งออกเป็นข้าวขาวเท่านั้น

นาย Kim ระบุเพิ่มเติมว่า ข้าวที่จะส่งออกไปตลาดแอฟริกานั้น ไม่เน้นข้าวคุณภาพดีที่มีราคาแพง ส่วนใหญ่ผู้บริโภคในตลาดแอฟริกาจะนิยมบริโภคข้าวขาวที่เกรดไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังมีฐานะความเป็นอยู่และรายได้ที่ไม่สูง ข้าวประเภทข้าวขาวจึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดแอฟริกามากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวไปตลาดแอฟริกายังมีข้อจำกัดอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนและราคา ซึ่ง กัมพูชาจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีหรือโควตานำเข้าเป็นกรณีพิเศษเหมือนการส่งออกข้าวไปตลาดยุโรปและจีน ส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันในด้านราคากับประเทศส่งออกข้าวอื่น เช่น ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักในตลาด แอฟริกาในปัจจุบันได้

ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าวรวมทั้งหมดปริมาณ 281,538 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกกว่าร้อยละ 42 ส่งไปประเทศจีน ตามด้วยตลาดยุโรปร้อยละ 33 และคาดว่า จะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้มากขึ้น หากสามารถขยายตลาดไปสู่แอฟริกาได้

ทั้งนี้ แม้ว่ากัมพูชาจะมีการพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเป็นที่ยอมรับในตลาดข้าวโลกมากยิ่งขึ้นแต่เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านศักยภาพและกำลังการผลิตภายในประเทศที่ยังมีไม่เพียงพอ ยังคงขาดแคลนโรงอบข้าวโรงสีข้าว รวมทั้งเทคโนโลยีทางการผลิตที่ทันสมัย และบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เป็นข้อจำกัดที่สำคัญในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของกัมพูชา นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีหรือโควตานำเข้าเป็นกรณีพิเศษเหมือนการส่งออกข้าวไปตลาดยุโรปและจีน ส่งผลให้ต้นทุนและราคาข้าวกัมพูชาสูง และไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในตลาดโลกได้

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ