สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 14, 2019 15:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 2 - 8 สิงหาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริม การปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565

(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว

และปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ(2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,692 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,552 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,718 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,683 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,090 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 33,850 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,300 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.10

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,178 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,934 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,504 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.55 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 430 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,117 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,855 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.38 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 262 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,812 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,610 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.94 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 202 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,025 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,855 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.67 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 170 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.5042

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง เนื่องจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการที่ประเทศฟิลิปปินส์ อาจจะระงับการนำเข้าข้าวชั่วคราวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่จะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนนี้ โดยราคาข้าวขาว 5% ลดลงมาอยู่ที่ตันละ 340-350 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ถือเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดในปีนี้ หลังจากจีนลดการนำเข้าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและหลังจากที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดเสรีนำเข้าข้าว ทำให้ผู้นำเข้าข้าวจากฟิลิปปินส์หันมาซื้อข้าวจากเวียดนามเป็นจำนวนมาก เนื่องจากราคาต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และข้าวเวียดนามกำลังเป็นข้าวที่นิยมบริโภคในฟิลิปปินส์มากขึ้น

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (the Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) รายงานว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-กรกฎาคม) เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 4.01 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 1.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในเดือนกรกฎาคม มีการส่งออกประมาณ 651,000 ตัน มูลค่า 285 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 438 ดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 33.7 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ส่วนประเทศที่เวียดนามส่งออกมากขึ้น ได้แก่ ไอวอรี่โคสต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67 ฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เป็นต้น

ขณะที่สมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association; VFA) รายงานว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-พฤษภาคม) เวียดนามส่งออกข้าวไปจีนประมาณ 223,078 ตัน มูลค่า 111.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 75.4 และร้อยละ 75.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 499 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวไปจีนมากเป็นอันดับ 3 จากที่เคยส่งออกเป็นอันดับ 1 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวของจีนลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนมีสต็อกข้าวจำนวนมาก และมีการระบายข้าวเก่าออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางส่วนส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2562/63 (มกราคม-ธันวาคม 2563) เวียดนามจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 45.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 (มกราคม-ธันวาคม 2562) ที่คาดว่ามีประมาณ 44.67 ล้านตัน เนื่องจากพื้นที่เก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn crop) เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผลผลิตข้าวในปี 2561/62 เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 (มกราคม-ธันวาคม 2561) เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวมากขึ้น ทั้งในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop)

สำหรับการเก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ ของปี 2561/62 สิ้นสุดแล้ว เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (the Mekong Rice Delta provinces)

ในปีการผลิต 2561/62 (มกราคม-ธันวาคม 2562) คาดว่า ผลผลิตข้าวเปลือกทั้งประเทศในฤดูการผลิตฤดูหนาว (Winter/Lua Mua) ที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคมมีประมาณ 8.168 ล้านตัน ลดลงจาก 8.33 ล้านตัน ในปี2560/61 (มกราคม-ธันวาคม 2561) และในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winterspring crop) คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 20.559 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 20.522 ล้านตัน ในปี 2560/61 ส่วนฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn crop) คาดว่า มีผลผลิตประมาณ 15.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 15.4 ล้านตัน ในปี 2560/61

สำหรับในพื้นที่เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (the Mekong Rice Delta provinces) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อการส่งออกนั้น ในปีการผลิต 2561/62 (มกราคม-ธันวาคม 2562) คาดว่า ผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูการผลิตฤดู หนาว (Winter/Lua Mua) ที่จะเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคมจะมีประมาณ 0.828 ล้านตัน เท่ากับปี 2560/61 (มกราคม-ธันวาคม 2561) และในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) คาดว่า มีผลผลิตประมาณ 10.963 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 10.892 ล้านตัน ในปี 2560/61 ส่วนฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn crop) คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 13.92 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 13.785 ล้านตัน ในปี 2560/61

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

บังคลาเทศ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2562/63 (พฤษภาคม 2562-เมษายน 2563) บังคลาเทศจะมีผลผลิตข้าวสารประมาณ 35.20 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 (พฤษภาคม 2561-เมษายน 2562)ที่คาดว่ามีประมาณ 34.91 ล้านตัน

ทั้งนี้ ฤดูฝนของปีนี้ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีฝนตกหนักทั่วประเทศในช่วงวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งฝนที่ตกลงมาปริมาณมาก ส่งผลให้ในหลายพื้นที่เกิดภาวะน้ำท่วมและดินถล่ม ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำ 25 สาย จาก 93 สาย อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ

ด้านภาวะราคาข้าวในประเทศยังคงมีแนวโน้มลดต่ำลง เนื่องจากอุปทานข้าวที่มีจำนวนมาก โดยราคาขายปลีกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 35 ทากาต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงประมาณร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

กระทรวงการอาหาร (the Ministry of Food; MOF) รายงานว่า ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2562 สต็อกข้าว สาธารณะ (public rice stocks) มีประมาณ 1.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลจัดหาข้าวเปลือกแล้วประมาณร้อยละ 48 ของเป้าหมาย ข้าวนึ่งร้อยละ 79 และข้าวขาวร้อยละ 58 ของเป้าหมาย

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ