สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2019 13:06 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 9-15 สิงหาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง(8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-256(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ(2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 15,837 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,692 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.92

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,907 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,718 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.45

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,800 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,090 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.08

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,825 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.50

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,193 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,428 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,178 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,934 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 494 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,100 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,117 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 17 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,825 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 10 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 436 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,313 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,025 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.11 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 288 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.5352

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ข้าวโลก

ปี 2562/63 ผลผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผลผลิตของเวียดนามและอิรักเพิ่มขึ้นทดแทนผลผลิตของไทยและสหรัฐฯ ที่ลดลง การค้าโลกคาดว่าลดลง เนื่องจากคาดว่าอิรักนำเข้าข้าวลดลง และไทยส่งออกข้าวลดลง ประกอบกับจีนมีการบริโภคข้าวที่ลดลง ทำให้สต็อกข้าวโลกปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ เมื่อ ปีที่ผ่านมา (ปี 2561/62) ผลผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเนปาล และเวียดนาม มีการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียและอียูลดลง การค้าโลกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากการซื้อของจีนลดลง ประกอบกับการส่งออกของไทยและเวียดนามลดลง

สำหรับราคาช่วงเดือนที่ผ่านมา ราคาส่งออกของไทยและเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาส่งออกของไทยสูงสุดในรอบปี ส่วนราคาของเวียดนามลดต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ขณะที่เวียดนามเสนอราคาข้าว 5% ต่ำกว่าไทย 100 บาท โดยช่องว่างระหว่างราคาของทั้งสองประเทศสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ การส่งออกของไทยลดลงทุกปี แต่การที่เวียดนามเสนอราคาที่ต่ำก็ทำให้ความต้องการข้าวของจีนลดลงมาก โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี เวียดนามส่งออกไปจีนลดลงมากกว่าร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกไปยังฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการค้าของฟิลิปปินส์เองกลับกระตุ้นให้ราคาส่งออกลดลงอีก ในทางตรงกันข้าม ราคาข้าวไทยยังคงสูงขึ้น เป็นผลจากความแห้งแล้งต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตในฤดูการผลิตปัจจุบัน นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ที่มา : World Grain Situation and Outlook, USDA ประจำเดือนสิงหาคม 2562

อิรัก

ปี 2562/63 ด้วยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้อิรักมีการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นและให้ผลตอบแทนสูง

ปี 2563 คาดว่าการนำเข้าจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญระหว่างผู้ผลิตในเอเชีย และตะวันตก โดยบรรดาประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของเอเชีย เช่น ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ อินเดียและเวียดนามมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศผู้ผลิตแถบตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย และอาร์เจนตินา มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ผลิตที่สำคัญ รวมทั้งปารากวัยที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในตลาดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในปี 2562 สัดส่วนการนำเข้าจากตะวันตกมีแนวโน้มลดลง ขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงมียอดขายที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : World Grain Situation and Outlook, USDA ประจำเดือนสิงหาคม 2562

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ