สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 17, 2019 13:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 6 - 12 กันยายน 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริม การปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่ ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565

(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 อนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ วงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ซึ่งได้กำหนดชนิดข้าว ราคา (ณ ความชื้นไม่เกิน 15%) และปริมาณประกันรายได้ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,484 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,320 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.00

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,912 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,949 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,050 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 35,930 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.36

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,550 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,251 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,984 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,904 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,722 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,026 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.3629

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย-ฟิลิปปินส์

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวรัชดา ธนาดิเรก) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ทางการของฟิลิปปินส์ได้ประกาศยกเลิกการจำกัดปริมาณการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศและยกเลิกการประมูลขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ประสบปัญหาข้าวขาดตลาด ทำให้ข้าวภายในประเทศมีราคาสูงมาก

การยกเลิกดังกล่าว จะนำไปสู่การซื้อขายข้าวอย่างเสรีในฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกข้าวไทยที่จะส่งไปขายยังฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวหลัก และยังเป็นประเทศหนึ่งในสมาชิกของอาเซียน จึงเสียภาษีนำเข้าข้าวเพียงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่นอกอาเซียนต้องเสียภาษีร้อยละ 50 และยังถูกจำกัดปริมาณนำเข้าข้าวได้สูงสุดไม่เกิน 350,000 ตัน

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่นำเข้าข้าวในอันดับต้นๆ ของโลก โดยในช่วงปี 2557-2561 พบว่า ไทยชนะ การประมูลนำเข้าข้าวแบบจีทูจีในฟิลิปปินส์ถึง 6 ครั้ง คิดเป็นปริมาณการส่งออกข้าวรวม 1.1 ล้านตัน หรือเป็นมูลค่า 16,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อฟิลิปปินส์เปิดเสรีการซื้อขายข้าวแล้ว จึงมั่นใจว่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับไทยที่จะส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, www.ryt9.com

กัมพูชา

สำนักงานบริการด้านการส่งออกข้าวของกัมพูชา รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกข้าวไปจีนมากขึ้น 132,947 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 54 ทำให้จีนยังคงเป็นประเทศที่ซื้อข้าวจากกัมพูชามากที่สุดในช่วงดังกล่าว และปริมาณข้าวส่งออกจากกัมพูชาทั้งหมดเป็นข้าวสารที่ส่งไปยังจีนถึงร้อยละ 39 ขณะที่กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังตลาดยุโรปได้เพียง 120,061 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 47 สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวของกัมพูชานั้น ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกข้าวไปยัง 51 ประเทศ เป็นจำนวน 342,045 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 0.1

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไนจีเรีย

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า รัฐบาลไนจีเรียจะปิดพรมแดนทางตะวันตกบางส่วนที่ติดกับประเทศเบนิน เพื่อควบคุมการลักลอบขนข้าวซึ่งกำลังคุกคามความพยายามของประเทศในการเร่งการผลิตในประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ไนจีเรียมีข้าวที่พอเพียง จึงกำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้า

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Muhammadu Buhari ได้นำนโยบายเข้มงวดการนำเข้าข้าวมาใช้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการนำเข้าเพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศ และเพื่อเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังกล่าวอีกว่า จะมีการประชุมกับประเทศเบนินและ ไนเจอร์ประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของไนจีเรีย เพื่อกำหนดมาตรการในการตรวจสอบการลักลอบขนข้าวข้าม ชายแดน ซึ่งรัฐบาลระบุว่าการนำเข้าข้าวและข้าวสาลีของไนจีเรียมีมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่ประชาชนกว่า 190 ล้านคน พึ่งพาการนำเข้าข้าวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากความสามารถในการผลิตข้าวมีจำกัด และเมื่อต้นเดือนที่แล้ว ได้สั่งการธนาคารกลางให้หยุดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสำหรับการนำเข้าสินค้าอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรของประเทศ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ