นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ายางพารา นับเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top4) ของจังหวัดชลบุรี โดยปัจจุบัน พบว่า เกษตรกรจังหวัดชลบุรี มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) จำนวน 205,774 ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,475 บาท/ไร่ แต่การปลูกในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน จำนวน 105,695 ไร่ โดยได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 165 บาท/ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผลตอบแทนสุทธิในพื้นที่เหมาะสมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พบว่า หากเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ (S3/N) ของยางพารา มาปลูกพืชอื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Top4) ของจังหวัด คือ ปาล์มน้ำมัน จะได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 3,953 บาท/ไร่ มันสำปะหลังโรงงาน ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 214 บาท/ไร่ ส่วนสับปะรดโรงงาน ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 34,144 บาท/ไร่ ซึ่งแม้ว่าจะมีรายได้ที่ดีกว่าการปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม แต่ก็อาจเกิดปัญหาล้นตลาดได้ในอนาคต
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) ได้ทำการศึกษาแล้ว พบว่า เกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว สามารถปรับรูปแบบการผลิตเป็นเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ว่าง เพื่อสร้างรายได้ อาทิ กล้วยน้ำว้า มีต้นทุนการผลิต 5,881 บาท/ไร่/ปี ให้ผลผลิตเมื่อมีอายุเฉลี่ยได้ 1 ปี ได้ผลตอบแทนสุทธิ 7,618 บาท/ไร่/ปี ส่วนใหญ่เกษตรกรจะขายเป็นกล้วยสด ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดภายในจังหวัดและตลาดนอกจังหวัดหรือตามแหล่งท่องเที่ยว โดยราคารับซื้อของจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท
พริกชี้ฟ้า มีต้นทุนการผลิต 11,834 บาท/ไร่/รุ่น สามารถเก็บผลผลิตออกจำหน่ายได้ เมื่อมีอายุเฉลี่ย 70 - 90 วัน ผลตอบแทนสุทธิ 19,415 บาท/ไร่/รุ่น ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งนอกจากจะขายให้กับตลาดผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปทำซอสพริกศรีราชา ซึ่งมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในพื้นที่ และ ข่าแดง ต้นทุนการผลิต 13,431 บาท/ไร่/รุ่น ข่าอ่อนสามารถขุดจำหน่ายได้เมื่อมีอายุ 6 เดือน และข่าแก่จะมีอายุ 8 เดือนขึ้นไป ซึ่งได้ผลตอบแทนสุทธิ 20,943 บาท/ไร่/รุ่น ราคาข่าแก่รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 27.50 บาทสามารถขายได้แบบขายสด และหากเป็นข่าอ่อนจะได้ราคาที่ค่อนข้างแพงนำมาแปรรูปส่วนผสมของพริกแกงได้อีกด้วยส่งขายได้ทั้งตลาดสดภายในจังหวัดและภายนอกจังหวัด เช่น ตลาดไท
นอกจากนี้ ยังมีพืชดาวรุ่งที่แนะนำมาทดแทนยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม คือ ไผ่กิมซุง (ไผ่ตงลืมแล้ง) มีต้นทุน17,630 บาท/ไร่/ปี เป็นไผ่ที่โตเร็วในตระกูลไผ่ด้วยกัน จึงเริ่มเก็บหน่อออกจำหน่ายเมื่อไผ่มีอายุ 8 เดือน ผลตอบแทนสุทธิ 12,259 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรสามารถเก็บหน่อได้ตลอดทั้งปี ขายได้ทั้งหน่อสดและแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง และขายลำเพื่อค้ำยันหรือไม้ค้างในสวนผลไม้ หรือเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงหอยในทะเล และขายลำสำหรับใช้ทำเชื้อเพลิงชีวมวลได้ ซึ่งมีโรงงานในจังหวัดชลบุรี โดยราคาหน่อสด รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 12.20 บาท ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างมากแถมเป็นพืชใช้น้ำน้อย ดูแลรักษาง่ายทำให้เกษตรกรมีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีก
ทั้งนี้ ผลผลิตสินค้าทางเลือกและเสริมรายได้เหล่านี้เป็นที่ต้องการของพ่อค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพ่อค้าจะเข้ามารับซื้อถึงแหล่งผลิต โดยพ่อค้าคนกลางจะนำไปขายตลาดภายในจังหวัดและส่งขายนอกจังหวัด เช่น ตลาดไท เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสินค้าทางเลือกมีหลากหลายชนิดที่ตลาดต้องการที่สร้างรายได้เพิ่ม และให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมสนับสนุนช่องทางการตลาดการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และร่วมวางแผนการผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 โทร. 038 351 261 หรืออีเมล zone6@oae.go.th และหากเกษตรกรต้องการตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางพาราหรือพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นๆของตนเอง ว่าอยู่ในพื้นที่เหมาะสมหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน http://agri-map-online.moac.go.th/
*******************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร