นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงสถานการณ์ดุลการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งจากความตกลงเขตการค้าเสรีของไทยภายใต้กรอบเจรจาต่างๆ ที่ได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วกับ 10 คู่เจรจา ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และล่าสุดฮ่องกง (เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 11 มิถุนายน 2562) สศก. ได้มีการติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-24 และพิกัด 4001 ยางพาราธรรมชาติ) พบว่า
8 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม – สิงหาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ไทยยังคงรักษาความได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรในภาพรวม โดย อาเซียน ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 144,838 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 16 จากการส่งออกข้าวและน้ำตาลลดลง) สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ น้ำตาล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผลไม้ (ทุเรียน ลำไยสด/แห้ง มังคุด) จีน ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 112,843 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13) สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด) ยางพารา และผลิตภัณฑ์แป้งจากธัญพืช ญี่ปุ่น ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 91,715 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 2 เป็นผลจากการส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ ปลาและสัตว์น้ำลดลง) สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารปรุงแต่ง ปลาและสัตว์น้ำ และยางพารา ฮ่องกง ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 20,854 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9) สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผลไม้ (ทุเรียน) ข้าว และอาหารปรุงแต่ง เกาหลีใต้ ไทยได้เปรียบดุลการค้า มูลค่า 14,210 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25) สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ น้ำตาล อาหารปรุงแต่ง และยางพารา และ ออสเตรเลีย ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 5,207 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 23 เป็นผลจากการส่งออกอาหารปรุงแต่งลดลง) สินค้าส่งออกสำคัญ ของไทย ได้แก่ อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งจากธัญพืช/นม และซอส/เครื่องปรุง
อย่างไรก็ตาม พบว่า มีประเทศเปรู อินเดีย และนิวซีแลนด์ ที่ไทยเสียเปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้น โดย เปรู ไทยยังคงเสียเปรียบดุลการค้า มูลค่า 258 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22) จากการส่งออกปลาและสัตว์น้ำ และผลไม้ (องุ่นสด) เพิ่มขึ้น อินเดีย ไทยเสียเปรียบดุลการค้า มูลค่า 2,487 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 382) ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้ากาแฟ ชา เครื่องเทศ และประมงเพิ่มขึ้นมาก ส่วน นิวซีแลนด์ ไทยเสียเปรียบดุลการค้ามูลค่า 9,602 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33) ซึ่งเกิดจากนำเข้านมผง ผลไม้ (แอปเปิ้ล และกีวี) และปลารวมทั้งสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้กับวัตถุดิบในการแปรรูปต่อไปในขณะที่ ชิลี ไทยเสียเปรียบดุลการค้า มูลค่า 1,790 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 25) จากการนำเข้าปลาและสัตว์น้ำ และผลไม้ลดลง
ทั้งนี้ ทิศทางการค้าสินค้าเกษตรกับคู่เจรจา FTA ในช่วง 8 เดือน ค่อนข้างชะลอตัวกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นของไทย อย่างไรก็ตาม ไทยยังได้เปรียบดุลการค้า 375,530 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 5) จากการส่งออกผลไม้และยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย
ดุลการค้าประเทศไทย และ 10 ประเทศคู่เจรจา FTA 8 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม – สิงหาคม)
ประเทศ ส่งออกสินค้าเกษตร นำเข้าสินค้าเกษตร ดุลการค้า ปี62 ดุลการค้า ปี61 เปรียบเทียบ ปี 61 และ 62 (ล้านบาท) (ล้านบาท) (ล้านบาท) (ล้านบาท) (ร้อยละ) อาเซียน 213,371 68,533 144,838 173,181 -16 จีน 155,251 42,408 112,843 100,028 13 ญี่ปุ่น 99,899 8,184 91,715 94,012 -2 ฮ่องกง* 20,998 144 20,854 19,127 9 เกาหลีใต้ 23,024 8,814 14,210 11,327 25 ออสเตรเลีย 17,995 12,788 5,207 6,789 -23 เปรู 1,499 1,757 -258 -212 22 ชิลี 1,608 3,398 -1,790 -2,374 -25 อินเดีย 10,586 13,073 -2,487 881 382 นิวซีแลนด์ 3,022 12,624 -9,602 -7,227 33 ภาพรวม 547,253 171,723 375,530 395,533 -5
หมายเหตุ: *ฮ่องกง (ภายใต้กรอบอาเซียน-ฮ่องกง เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 11 มิถุนายน 2562)
*******************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร