นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top 4) ของจังหวัดอ่างทอง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ไข่ไก่ และมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยเกษตรกร ได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการผลิตข้าวนาปี ในพื้นที่มีความเหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) เฉลี่ย 1,050 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 604 บาท/ไร่ ข้าวนาปรัง พื้นที่ S1/S2 เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,252 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ S3/N เฉลี่ย 934 บาท/ไร่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งไม่มีการจำแนกพื้นที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 6,508 บาท/ไร่ และ ไข่ไก่ ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 0.07 บาท/ฟอง
หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวของจังหวัดอ่างทอง พบว่า พื้นที่ S1/S2 สำหรับปลูกข้าวมีจำนวน 366,388 ไร่ และพื้นที่ S3/N มีเพียงจำนวน 13,859 ไร่ โดยพื้นที่ไม่เหมาะสมบางส่วนเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลาย ได้แก่ การปลูกผักต่างๆ เช่น ตะไคร้ มีต้นทุนการผลิต 22,089 บาท/ไร่ ระยะเวลาปลูกถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 5 - 6 เดือน ซึ่งใน 1 ปีสามารถปลูกได้ถึง 2 รอบเกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 20,086 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้อในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 13 - 15 บาท โดยตะไคร้สามารถทำสมุนไพรแปรรูป เช่น ชาตะไคร้ ส่งขายได้ทั้งตลาดภายในจังหวัดและภายนอกจังหวัด อาทิ ศูนย์ทำสมุนไพรแปรรูปจังหวัดอ่างทอง ตลาดไท และ ตลาดสี่มุมเมือง
ชะอม ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 19,734 บาท/ไร่ ระยะเวลาปลูกประมาณ 2 เดือนขึ้นไป ยอดจะแตกออกมาให้เก็บผลผลิต และยิ่งมีการดูแลที่ถูกวิธีและให้น้ำอย่างสม่ำเสมอสามารถเก็บยอดได้วันเว้นวัน สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เกือบทุกวัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 22,266 บาท/ไร่/ปี ราคารับซื้อในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 - 15 บาท ส่งขายตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และผู้บริโภคโดยตรง นอกจากจะตัดยอดขายแล้วยังสามารถชำกิ่งพันธุ์ขายได้อีกด้วย
ข่าแดง (ข่าอ่อน) มีต้นทุนการผลิต 68,998 บาท/ไร่ ระยะเวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รุ่นละประมาณ 7 - 8 เดือน และเมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยว ยังสามารถปล่อยทิ้งไว้ได้อีกประมาณ 7 - 8 เดือนเพราะข่าจะแตกหน่อใหม่อย่างต่อเนื่อง ให้ผลตอบแทน สุทธิเฉลี่ย 27,003 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้อในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 - 20 บาท และยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นส่วนผสมของพริกแกงได้อีกด้วย ส่งขายได้ทั้งตลาดสดภายในจังหวัดและภายนอกจังหวัด เช่น ตลาดไท ส่วนข่าแก่ส่งขายให้กับศูนย์ทำสมุนไพรแปรรูปจังหวัดอ่างทอง
มะเขือเทศราชินี มีต้นทุนการผลิต 34,252 บาท/ไร่ สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อต้นมีอายุประมาณ 70 - 90 วัน ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 46,891 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้อในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 - 60 บาท ส่งขายพ่อค้าทั่วไปและผู้บริโภคโดยตรง หากเกษตรกรส่งขายให้กับบริษัทไมเนอร์ ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด (ร้านซิซซ์เล่อร์สลัดบาร์) บริษัทจะประกันราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 45 บาท นอกจากการปลูกผักต่างๆ แล้ว เกษตรกรยังสามารถปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาได้ โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีต้นทุนการผลิต 4,161 บาท/ไร่ ระยะเก็บเกี่ยว 120 วัน เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 3,172 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคารับซื้อ ในจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 - 8 บาท ส่งขายแหล่งรับซื้อที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ด้านนายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) กล่าวเสริมว่านอกจากนี้ การปลูกไม้ยืนต้น (ไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ) เพื่อแซมในพื้นที่ว่างเปล่าของเกษตรกรยังเป็นอีกทางเลือกเสริมรายได้ อาทิ ต้นสัก ต้นพยูง ต้นมะค่า ต้นประดู่ ต้นสะเดา ต้นเต็ง และ ต้นรัง เนื่องจากเป็นไม้ที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดี และช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในอนาคตได้อีกด้วย รวมทั้งการทำเกษตรผสมผสานจะสามารถสร้างรายได้และให้ผลตอบแทนมากกว่าการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ทั้งนี้ ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคกลาง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 โทร.056 405005 - 8 หรืออีเมล zone7@oae.go.th
*******************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร