สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 10, 2019 15:34 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 4 - 10 ตุลาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริม การปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565

(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด และได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ จะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกๆ 15 วัน จนถึงวันสิ้นสุดการใช้สิทธิตามโครงการประกันรายได้ฯ โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,405 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,438 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,835 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,797 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,510 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,226 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,965 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,215 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,875 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 90 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,814 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 85 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,663 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,717 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 54 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,814 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,777 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 37 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.1510

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อุปสงค์ลด ไทย-อินเดีย ปรับลดราคาข้าว

อัตราการส่งออกข้าวในเอเชียลดลง เนื่องจากความต้องการที่ลดลงและค่าเงินผันผวน ทำให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ในอินเดียและไทยปรับราคาลง โดยราคาข้าว 5% ของไทย ปรับลดลงเล็กน้อยที่ตันละ 396-417 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ราคาตันละ 400-420 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับผู้ส่งออกข้าวไทยได้ลดราคาข้าวเพื่อจูงใจผู้บริโภค เนื่องจากเมื่อสองเดือนที่ผ่านมาไม่สามารถขายข้าวได้ ประกอบกับผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญกับค่าเงินบาทที่แข็งค่านับตังแต่ต้นปี ส่งผลให้ราคาข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนาม

ผู้ประกอบการค้าข้าวรายหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวว่า "เป็นไปได้ที่แอฟริกาจะมีการตกลงซื้อข้าวนึ่งก่อนช่วง เทศกาลคริสต์มาส และช่วงปลายปีนี้จีนและตลาดเอเชียอื่นๆ อาจมีความต้องการข้าวหอมมะลิ แต่ตอนนี้ยังไม่มีทีท่าว่าตลาดจะมีความต้องการ เนื่องจากข้าวของไทยมีราคาสูง"

สำหรับอินเดีย ราคาส่งออกข้าวนึ่ง 5% ประมาณตันละ 369-373 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากตันละ 371-375 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากค่าเงินรูปีอ่อนตัวลง ประกอบกับความต้องการที่ลดลง โดยผู้ส่งออกรายหนึ่ง กล่าวว่า "ความต้องการที่ลดลงนี้ ทำให้ผู้ประกอบการมองไปยังผลผลิตฤดูกาลหน้า" ส่วนการส่งออก ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม ปริมาณ 3.14 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการข้าวทีไม่ใช่บาสมาติจากแอฟริกาลดลง

เวียดนาม ราคาข้าว 5% ประมาณตันละ 330-340 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสัปดาห์นี้ ราคาตันละ 325 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ตันละ 335 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี ผู้ประกอบการค้า ในเมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่า "เรามีความกังวลว่าการส่งออกไปยังฟิลิปปินส์จะลดลง เนื่องจากการจำกัดการนำเข้าข้าวเพื่อประกันผลผลิตในท้องถิ่น" แม้ว่าการส่งมอบข้าวของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 5.1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 แต่คาดว่ารายได้จากการส่งออกจะลดลงร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก อาจกำลังพิจารณานโยบายการปกป้องเพื่อการค้าข้าวของเกษตรกรในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ฟิลิปปินส์

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรของประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อชี้แจงกรณีที่ฟิลิปปินส์ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนมายังรัฐบาลไทยและเวียดนามว่า มีการนำเข้าข้าวของไทยและเวียดนามในปริมาณที่มากเกินไป หลังจากฟิลิปปินส์ได้เปิดเสรีให้ภาคเอกชนนำเข้าแทนการจัดซื้อแบบจีทูจีทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในประเทศตกต่ำ ดังนั้นฟิลิปปินส์อาจจะพิจารณาใช้มาตรการเซฟการ์ดเพื่อปกป้องสินค้าเกษตรเป็นพิเศษ เช่น การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าข้าว เป็นร้อยละ 50

อย่างไรก็ตามไทยไม่เห็นด้วย เพราะนอกจากไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ข้าวไทยก็ไม่ได้ดั้มพ์ราคา เนื่องจากราคาข้าวไทยสูง โดยข้าวขาวตันละ 390-410 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าเวียดนาม 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าในปีนี้เวียดนามส่งข้าวไปฟิลิปปินส์แล้ว 1.4-1.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 150 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกดราคาข้าวของฟิลิปปินส์ ขณะที่ข้าวไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์เพียง 2-3 แสนตัน ลดลงจากก่อนหน้าที่ไทยสามารถชนะประมูลข้าวจีทูจีและส่งออกไป 3-5 แสนตันต่อปี “ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ส่งหนังสือไปยังภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันหามาตรการรับมือ รวมถึงชี้แจงกรณีที่กระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนมายังรัฐบาลไทยว่าข้าวของไทยและเวียดนาม ได้เข้ามาจำหน่ายในฟิลิปปินส์ปริมาณมาก โดยหาเป็นข้าวในกลุ่มอาเซียนเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 35 และนอกอาเซียนร้อยละ 50”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มีแผนที่จะนำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนไปโรดโชว์ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อทำตลาดข้าวไทยเพิ่มขึ้น แต่อาจพิจารณาเลื่อนออกไปก่อน เพื่อดูท่าทีฟิลิปปินส์ว่าจะมีมติเกี่ยวกับการไต่สวนไทยอย่างไร

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า มาตรการเซฟการ์ดข้าวไทย ในครั้งนี้ตื่นตระหนกต่อตลาดข้าวอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้เซฟการ์ดกับข้าวไทยจริง ประเทศไทยก็สามารถร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้ เพราะข้อมูลการส่งออกข้าวไทยไม่สูงไปจากอดีต และราคาข้าวไทย ที่ไปจำหน่ายในฟิลิปปินส์ยังมีราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง เพราะหากขายในราคา 300-400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ก็จะขาดทุนทันที

ขณะนี้ ผู้นำเข้าข้าวจากประเทศญี่ปุ่นได้มีคำสั่งซื้อข้าวไทย 4-4.5 หมื่นตัน ตามกรอบองค์การการค้าโลก โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวขาวเมล็ดยาว เพื่อนำเข้าโรงงานแปรรูปอาหารและขนม เนื่องจากญี่ปุ่นมองว่าข้าวไทยเป็นข้าว มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยตลอดทั้งปีนี้คาดว่าญี่ปุ่นจะนำเข้าข้าวไทยราว 2-3 แสนตัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ