สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม 2562
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก
ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่
1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่
1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน
1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา
1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา
1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง(8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล
ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่
ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว
(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว ราคาประกันรายได้ ครัวเรือนละไม่เกิน (บาท/ตัน) (ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 14 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 16 ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 30 ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 25 ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 16 กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ใช้สิทธิได้ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด
2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563
2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ
3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63
มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,438 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,469 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,797 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,784 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อนข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,510 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,550 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,215 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,875 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,234 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,360 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.53 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 485 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,899 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 32 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,717 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 32 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,777 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,867 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.94 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 90 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.3497
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับสูงขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn crop) สิ้นสุดลง ประกอบกับวงการค้าคาดว่า ผู้ซื้อข้าวจากต่างประเทศจะหันมาให้ความสนใจข้าวเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากราคาข้าวไทยยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาข้าวขาว 5% ปรับขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 335 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากตันละ 325 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า โดยก่อนหน้านี้ ราคาข้าวอ่อนตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 12 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ท่ามกลางภาวะการค้าที่ซบเซา เนื่องจากความต้องการข้าวจากต่างประเทศลดลงโดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น ฟิลิปปินส์ และจีน
ขณะที่วงการค้าระบุว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1-9 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะมีการขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือบรรทุกสินค้าประมาณ 37,100 ตัน เพื่อส่งไปยังประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก และมาเลเซีย
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
รัฐบาลเมียนมาร์กำลังวางแผนที่จะส่งออกข้าวเปลือก หากราคาข้าวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนหน้าลดต่ำลง กว่าระดับราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ถ้าราคาข้าวลดลงจะมีการอนุญาตให้ส่งออกข้าวเปลือกได้ในปริมาณที่รัฐบาลจะจำกัดจำนวนไว้ ซึ่งเมื่อปี 2561 รัฐบาลได้กำหนดราคาข้าวเปลือกไว้ที่ 500,000 จ๊าตต่อ 100 ตะกร้า หรือประมาณ 327 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1 ตะกร้าเท่ากับประมาณ 20.86 กิโลกรัม) หรือประมาณ 155 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สมัชชาแห่งสหภาพ สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ และตัวแทนเกษตรกร กำลังมีการหารือแนวทางในการกำหนดราคาดังกล่าว
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
มีรายงานว่าในช่วงปี 2561 ประเทศลาวมีผลผลิตข้าวลดลงถึงร้อยละ 18 ส่งผลให้ในปี 2561 และในปี 2562 (6 เดือนแรก) ที่ผ่านมา การเพาะปลูกข้าวในลาวมีอัตราการเติบโตอย่างช้าๆ โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้เพียง 66,700 ตัน
ทั้งนี้ ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจเพาะปลูกหลักของลาว โดยพื้นที่ทำการเกษตรกว่าร้อยละ 60 เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวส่วนใหญ่จะอยู่ด้านริมแม่น้ำโขง ได้แก่ เวียงจันทน์ คำม่วน บอลิคำไซ สะหวันนะเขต สาละวัน และจำปาสัก ทั้งนี้ ผลผลิตส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นข้าวเหนียว นอกนั้นเป็นข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ โดยผลผลิตข้าวในปี 2561 และปี 2562 (ในช่วง 6 เดือนแรก) ของลาวลดลง เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วม
นายบุญทอง พรมจันทร์ ผู้อำนวยการกรมการเกษตรและป่าไม้เวียงจันทน์เผยว่า ผลผลิตข้าวในปีนี้จะเติบโตประมาณร้อยละ 20.8 ทั้งนี้ สภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่ลดลงส่งผลกระทบทำให้ได้ต้นกล้า เพียงร้อยละ 40 ที่สามารถนำไปเพาะปลูกได้ โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าปริมาณน้ำฝนที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อชาวนาและ ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวที่ลดลง ส่งผลต่อราคาและค่าครองชีพในเวียงจันทน์ที่สูงขึ้น รวมทั้งมีผลต่อการนำเข้าข้าวที่มากขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 0.21 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวมีแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาว โดยจะจัดทำแผนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสนับสนุนการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร