สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ : ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2019 14:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 20 - 26 กันยายน 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562

การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง(8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 อนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกร

ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ วงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ซึ่งได้กำหนดชนิดข้าว ราคา (ณ ความชื้นไม่เกิน 15%) และปริมาณประกันรายได้ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด- ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 (ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563)

  • ระยะเวลาที่จะใช้สิทธิขอชดเชย ตั้งแต่ วันที่ 15 ตุลาคม 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 (ภาคใต้ ตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2563) สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อน ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการฯ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,469 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,859 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.32

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,784 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,815 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,234 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,360 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,254 ดอลลาร์สหรัฐฯ (38,075 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.59 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 715 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,904 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,935 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,722 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,752 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,904 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,056 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.16 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 152 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.2753

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2562/63 ณ เดือนกันยายน 2562 ว่าจะมีผลผลิต 494.218 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 498.949 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 0.95 จากปี 2561/62

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2562/63 ณ เดือนกันยายน 2562 มีปริมาณผลผลิต 494.218 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.95 การใช้ในประเทศ 493.290 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2561/62 ร้อยละ 0.80 การส่งออก/นำเข้า 46.240 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.55 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 172.727 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.54

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน แอฟริกาใต้ กัมพูชา ไทย สหรัฐอเมริกา กายานา และอินเดีย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย เมียนมาร์ รัสเซีย และปากีสถาน

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เซเนกัล เคนย่า เนปาล กินีแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย โมแซมบิค เบนิน คาเมรูน เบอร์กินา แองโกลา เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อียิปต์ ฟิลิปปินส์ จีน อิหร่าน อิรัก และอียูประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซีย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

สำนักงานบริหารด้านการส่งออกข้าวของกัมพูชา (Secretariat of One Window Service Rice Export) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังประเทศจีนปริมาณ 132,947 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม จีนยังคงเป็นประเทศผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ของกัมพูชา โดยมีการส่งออกข้าวไปยังจีน คิดเป็นร้อยละ 39 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของประเทศ ขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าว ไปยังตลาดยุโรป 120,061 ตัน ลดลงร้อยละ 47 ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของข้าวกัมพูชาในสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) ลดลงจากร้อยละ 52 เหลือร้อยละ 35 ซึ่งความซบเซาของการส่งออกข้าวไปยังตลาดยุโรปนั้น เป็นผลมาจากเมื่อต้นปี ที่ผ่านมาอียูได้กำหนดภาษีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเป็นเวลา 3 ปี เพื่อจำกัดการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาและคุ้มครองผู้ผลิตในยุโรป

ขณะที่สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (the Cambodia Rice Federation; CRF) คาดว่า ในปีนี้การส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปจะลดลงประมาณร้อยละ 10 โดยในปี 2561 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นในปีนี้คาดว่ามูลค่าส่งออกจะลดลงต่ำกว่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากสหภาพยุโรปใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมข้าวในสหภาพยุโรป โดยการประกาศใช้มาตรการภาษีกับข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชาและเมียนมาร์ไปจนถึงปี 2564

รายงานเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 342,045 ตัน ไปยัง 51 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพียงร้อยละ 0.1

อย่างไรก็ตาม กัมพูชากำลังมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหภาพยุโรป โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกข้าวไปยังตลาดจีนเป็น 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้กัมพูชาก็กำลังมองไปที่ตลาดออสเตรเลีย แคนาดา แอฟริกา และประเทศในกลุ่มอาหรับด้วย ซึ่งคาดว่า ในตลาดอาหรับและแอฟริกาจะเน้นการส่งออกข้าวหอม เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและนิยมบริโภคข้าวหอม

ที่มา: หนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

คณะนักวิทยาศาสตร์จีนจัดตั้งสถานีเพาะพันธุ์ข้าวทนดินเค็มในภูมิภาคที่มีอากาศเย็นแห่งแรก ในมณฑลเฮยหลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

สถานีเพาะพันธุ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองเถี่ยลี่ ซึ่งเป็นพื้นที่สูง และเป็น 1 ใน 3 ของแหล่งดินเค็มด่างที่สำคัญของโลก ข้าวทนดินเค็มหรือซีไรซ์ (Sea Rice) เป็นข้าวชนิดใหม่ที่สามารถต้านทานดินเค็มด่าง (saline-alkaline) โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ซึ่งนำโดย หยวนหลงผิง ผู้ได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม” ร่วมกันวิจัยเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่มากขึ้นในการปลูกข้าวในสภาพแวดล้อมดินเค็ม โดยนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวทนดินเค็มด่าง มณฑลชิงเต่า ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสถานีเพาะพันธุ์ระบุว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยตอบสนองความต้องการของพื้นที่ปลูกข้าวในมณฑลต่างๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และเขตปกครองตนเองมองโกเลียด้วย นอกจากนี้ สถานีเพาะพันธุ์จะช่วยผลักดันการศึกษาพันธุ์ข้าวที่ทนดินด่าง และอากาศเย็นได้ด้วย

ทั้งนี้ คณะวิจัยของหยวนก่อตั้งฐานทดลองปลูก 8 แห่ง ในพื้นที่หลักๆ ที่มีปัญหาดินเค็มด่าง 5 แห่งทั่วประเทศ โดยในปี 2562 มีการเพาะปลูกข้าวทนดินเค็มน้อยกว่า 1,333 เฮกตาร์ (ประมาณ 8,300 ไร่) และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีการปลูกข้าวทนดินเค็มในภูมิภาคนี้กว่า 1 ล้านเฮกตาร์ (6.25 ล้านไร่)

ที่มา: www.xinhuathai.com

อินโดนีเซีย

หน่วยงาน BULOG ระบุว่า อินโดนีเซียยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเข้าข้าวไปจนถึงปลายปี 2563 เนื่องจาก ในขณะนี้ยังคงมีสต็อกข้าวจำนวนมาก โดยคาดว่ามีสต็อกข้าวอยู่ประมาณ 2.6 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศไปจนถึงเดือนเมษายนปี 2563 หลังจากนั้นจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีอีกครั้ง (the main rice harvest) ทำให้อุปทานข้าวในประเทศในช่วงนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก และ BULOG มีแผนที่จะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อมาเก็บสต็อกไว้อีกครั้ง และหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จะทำให้อินโดนีเซียไม่มีความจำเป็นที่จะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศไปจนถึงสิ้นปี 2563

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ