สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 11 - 17 ตุลาคม 2562
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก
ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่
1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่
1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน
1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา
1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา
1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล
ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่
ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565
(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว
(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว ราคาประกันรายได้ ครัวเรือนละไม่เกิน (บาท/ตัน) (ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 14 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 16 ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 30 ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 25 ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 16
กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด และได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด
2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563
2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 -28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ
2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ จะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกๆ 15 วัน จนถึงวันสิ้นสุดการใช้สิทธิตามโครงการประกันรายได้ฯ โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562
มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,063 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,405 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.08
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,001 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,835 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.12
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,400 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,226 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,946 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,717 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,814 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 97 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,536 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,663 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 127 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,597 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,814 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.64 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 217 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.1357
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากมีความต้องการข้าวจากประเทศในแถบแอฟริกาเข้ามากระตุ้นตลาด โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากตันละ 330-340 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (โดยก่อนหน้านี้ราคาข้าวปรับลดต่ำสุดในรอบกว่า 12 ปี อยู่ที่ตันละ 325 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562)
วงการค้ารายงานว่า ระหว่างวันที่ 1-20 ตุลาคม 2562 คาดว่าจะมีการขนถ่ายสินค้าข้าวขึ้นเรือเพื่อส่งไปยังประเทศปลายทาง ประมาณ 70,600 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่จะไปยังประเทศในแถบแอฟริกาและบางส่วนไปยังประเทศมาเลเซีย ขณะที่แหล่งข่าววงการค้าระบุว่า ประเทศในแถบแอฟริกามีความต้องการข้าวหอมจากเวียดนามมากขึ้น
กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (the Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น แต่มูลค่ากลับลดลง โดยการส่งออกข้าวปริมาณ 5.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 มูลค่า 2,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยในเดือนกันยายน 2562 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 586,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ฟิลิปปินส์เป็นตลาดนำเข้าข้าวเวียดนามอันดับหนึ่ง ปริมาณ 1.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.9 เท่า และมูลค่า 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดอื่นๆ ที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ ออสเตรเลีย (ร้อยละ 75) โกตดิวัวร์ (ร้อยละ 35) และฮ่องกง (ร้อยละ 35) สำหรับราคาข้าว เฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกอยู่ที่ตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวขาวมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด รองลงมา คือ ข้าวหอมร้อยละ 39.8
กรมแปรรูปสินค้าเกษตรและพัฒนาตลาด (AgroTrade) ภายใต้ MARD ระบุว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์วางแผนที่จะใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีในรูปแบบต่างๆ เพื่อปรับการนำเข้าข้าว ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ ได้เสนอให้มีการใช้ภาษีปกป้องการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นในอัตราระหว่างร้อยละ 30-65 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังฟิลิปปินส์ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ตลาดญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะเปลี่ยนการนำเข้าข้าวจากสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศที่เป็น สมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งรวมถึง เวียดนามด้วย นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังแสดงความสนใจข้าวจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม
กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ระบุว่าในระยะยาวเวียดนามวางแผนที่จะเปลี่ยนจากการ เพาะปลูกข้าวมาเป็นพืชชนิดอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายที่จะขยายตลาดส่งออกไปยังแอฟริกา และตะวันออกกลาง รวมถึงตลาดระดับภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
สมาพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation; MRF) รายงานว่า ในช่วง 11 เดือน (1 ตุลาคม 2561-31 สิงหาคม 2562) ของปีงบประมาณปัจจุบัน (ตุลาคม 2561-กันยายน 2562) เมียนมาร์ส่งออกข้าว (ข้าวสารและข้าวหัก) ประมาณ 2.29 ล้านตัน มูลค่า 691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งชนิดข้าวที่มีการส่งออก ประกอบด้วย ข้าวสาร 1.792 ล้านตัน มูลค่า 559.894 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่งไปยัง 65 ประเทศ และข้าวหัก ประมาณ 498,000 ตัน มูลค่า 132.139 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่งไปยัง 41 ประเทศ ทั้งนี้ เมียนมาร์ส่งออกข้าวผ่านทางท่าเรือ ประมาณร้อยละ 73 โดยมีมูลค่าส่งออกทั้งข้าวสารและข้าวหักผ่านทางท่าเรือประมาณ 503.859 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการส่งข้าวผ่านทางชายแดนทางตอนเหนือของประเทศ ไปยังประเทศจีน มีมูลค่าประมาณ 187.174 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับประเทศที่นำเข้าข้าวนั้น เมียนมาร์ส่งออกข้าวสาร และข้าวหักไปยังประเทศจีน ประมาณ 738,500 ตัน และประมาณ 38,000 ตัน ตามลำดับ รวมคิดเป็นร้อยละ 33.88 ของการส่งออกข้าวของเมียนมาร์ทั้งหมด รองลงมาเป็นประเทศในแถบแอฟริกา (ข้าวสารและข้าวหัก) ประมาณ 554,000 ตัน ประเทศในสหภาพยุโรป (ข้าวสารและข้าวหัก) ประมาณ 481,500 ตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 479,000 ตัน ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560/61 เมียนมาร์ส่งออกข้าวประมาณ 3.6 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 50 ปี
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
รัฐบาลเปรูปรับราคาอ้างอิง (reference prices) และอัตราภาษีนำเข้า (additional variable duties for imports) ของสินค้าข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และนมผง (whole milk powder) โดยในส่วนของข้าวปรับราคาอ้างอิงเป็น 528 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และปรับอัตราภาษีนำเข้าข้าวเปลือกและข้าวสาร (The additional variable duty for paddy rice and milled rice) เป็น 59 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 84 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ขณะที่ข้าวโพดปรับราคาอ้างอิงเป็น 158 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และปรับอัตราภาษีนำเข้าเป็น 12 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยราคาอ้างอิง (reference prices) ดังกล่าวมาจากการสำรวจราคาระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร