สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 25, 2019 15:49 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 18 - 24 ตุลาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว (4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกร

ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด และได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ จะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกๆ 15 วัน จนถึงวันสิ้นสุดการใช้สิทธิตามโครงการประกันรายได้ฯ โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,424 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,063 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.25

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,947 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,001 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 36,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,400 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,214 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,437 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,226 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,946 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 509 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,696 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,717 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 21 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,516 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,536 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 20 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,516 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,597 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 81 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.0141

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2562/63 ณ เดือนตุลาคม 2562

มีผลผลิต 497.771 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 498.950 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2561/62 หรือลดลงร้อยละ 0.24

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2562/63 ณ เดือนตุลาคม 2562 มีปริมาณผลผลิต 497.771 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.24 การใช้ในประเทศ 494.535 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2561/62 ร้อยละ 1.04 การส่งออก/นำเข้า 46.295 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก

ปี 2561/62 ร้อยละ 0.96 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 175.086 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 1.88โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา จีน กายานา แอฟริกาใต้ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ปากีสถาน ปารากวัย และรัสเซีย สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน กินี อินโดนีเซีย เคนย่า เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ จีน อียู อิหร่าน อิรัก และฟิลิปปินส์

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร “พะเยาโมเดล” พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายข้าวหอมมะลิ ราคาตันละ 18,000 บาท ระหว่างสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่จังหวัดพะเยา กับบริษัทข้าว ซี.พี. จำกัด ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกล่าวว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ข้าวหอมมะลิใน จ.พะเยา จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายบริหารจัดการข้าวหอมมะลิประมาณ 151,900 ตัน ให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวหอมมะลิ ณ ความชื้น 15 % ได้ในราคาที่ตันละ 18,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาประกันข้าวหอมมะลิของรัฐบาลที่ประกาศไว้ในปี พ.ศ. 2562 ถึงตันละ 3,000 บาท เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าข้าวหอมมะลิจังหวัดพะเยา และจะขยายผลไปสู่การส่งเสริมให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ : GI) ของจังหวัดพะเยา โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตามแนวนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

"สำหรับพะเยาโมเดล มีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ยกระดับรายได้เกษตรกรไทย และการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาดเพื่อนำร่องไปสู่จังหวัดอื่นๆ และขยายผลไปในสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไข่ไก่ เป็นต้น โดยส่งเสริมและพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ระยะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร และการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณค่าของสินค้าที่มุ่งเน้นความเป็นสินค้าอัตลักษณ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและนำไปสู่ความยั่งยืนในการผลิตสินค้าเกษตรต่อไป" รมช.กษ. ธรรมนัส กล่าว

ด้านนายกมล เชียงวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า พะเยาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิประมาณ 400,000 ไร่ อำเภอที่ปลูกมาก คือ ดอกคำใต้ และจุน รองลงมาคือ อำเภอเมืองพะเยา มีผลผลิตรวมประมาณ 210,000 ตันเศษ แบ่งเป็นผลผลิตด้านเมล็ดพันธุ์ และเพื่อการบริโภคประมาณ 60,000 ตัน เหลือจำหน่ายประมาณ 150,000 กว่าตัน โดยบริษัทข้าว ซี.พี.จำกัด รับซื้อ 40,000 ตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 110,000 ตันเศษ อยู่ระหว่างการหาตลาดมารับซื้อและขอความร่วมมือในการรับซื้อที่ราคาตันละ 18,000 บาท

ขณะที่ นายฉัตรชัย พิริยะประกาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการงานพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ บริษัทข้าว ซี.พี. จำกัด เผยว่า วันนี้เป็นการทำบันทึกข้อตกลงการซื้อขายข้าวหอมมะลิจังหวัดพะเยา ในราคา 18,000 บาท/ตัน (ความชื้น 15%) จำนวน 40,000 ตัน ระหว่างสหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. พะเยา จำกัด เพราะพะเยาจัดเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ และจากโมเดลนี้จะนำไปสู่การต่อยอดขยายผลสร้างกลยุทธ์เพื่อทำให้ข้าวหอมมะลิมีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์ของพะเยาที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นด้วย

ที่มา: www.dailynews.co.th

ไทย-ฟิลิปปินส์

นายกีรติ รัชโน รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ได้ยุติการเปิดไต่สวนการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) กับสินค้าข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงไทยเป็นการชั่วคราว หลังจากฟิลิปปินส์ได้เปิดไต่สวน เนื่องจากพบว่าปริมาณการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการยุติไต่สวนดังกล่าว ส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดฟิลิปปินส์ เพราะผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ยังคงนำเข้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีเซฟการ์ดจากข้าวที่นำเข้าจากไทย

“ถือเป็นความสำเร็จในการเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นต่อการส่งออกข้าวของไทย เพราะหลังจากที่กรมฯ ทราบข่าวก็ได้ทำหนังสือโต้แย้งทันที โดยชี้แจงว่า ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะฟิลิปปินส์เปลี่ยนระบบการนำเข้าข้าวจากเดิมใช้วิธีการทำบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) กำหนดปริมาณนำเข้าจากประเทศผู้ส่งออกปีละไม่เกินปริมาณเท่าไร และใช้ระบบประมูลนำเข้าแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แต่ปี 2562 ได้เปลี่ยนเป็นการนำเข้าแบบเสรีโดยภาคเอกชนทำให้มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะไทยส่งออกข้าวไปตีตลาด”

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาการดำเนินการของกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ต่อไป เพราะขณะนี้เป็นการยุติชั่วคราว และกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยกระทรวงเกษตรกังวลถึงผลกระทบต่อเกษตรกรจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น แต่กระทรวงการคลังกังวลว่าหากขึ้นภาษีจะทำให้ราคาข้าวแพงขึ้นกระทบต่อประชาชน และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

นายกีรติ กล่าวต่อว่า กรมฯ จะขยายตลาดข้าวไทยในฟิลิปปินส์ต่อไป โดยจะเร่งผลักดันข้าวคุณภาพดีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวพรีเมี่ยม เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ส่วนตลาดอื่นๆ จะขยายตลาดทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง โดยจะเจาะเป็นรายประเทศ เพราะปีหน้าการทำตลาดข้าวไม่ง่าย จากการแข่งขันสูง และไทยมีปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่วนเป้าหมายส่งออกข้าวในปี 2562 ที่ตั้งไว้ 9 ล้านตัน คาดว่าน่าจะทำได้ใกล้เคียง เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 ตุลาคม 2562 ส่งออกแล้ว 6.44 ล้านตัน มูลค่า 3,441 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 71.66 ของเป้าหมายการส่งออก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ