สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 25, 2019 14:49 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 15 - 21 พฤศจิกายน 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่ 1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่(นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด และได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ จะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกๆ 15 วัน จนถึงวันสิ้นสุดการใช้สิทธิตามโครงการประกันรายได้ฯ โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,510 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,814 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.05

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,930 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,016 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.07

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,390 บาท ราคาลดลงจากตันละ 35,250 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.43

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,250 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,290 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,098 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,865 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,126 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,849 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.48 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 984 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,601 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,596 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 5 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,428 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,415 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 414 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,392 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,415 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 23 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.9314

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในระดับทรงตัวท่ามกลางภาวะตลาดที่ค่อนข้างเงียบเหงา หลังจากราคาข้าวเคยปรับตัวสูงขึ้นระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือนครึ่ง เนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดค่อนข้างตึงตัว โดยราคาข้าวขาว 5% ยังคงอยู่ที่ตันละ 345-350 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่วงการค้าคาดว่าตลาดจะค่อนข้างเงียบเหงาไปจนถึงปลายปีนี้ โดยในช่วงนี้มีเพียงการส่งมอบข้าวตามสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้

กรมศุลกากร (the General Department of Vietnam Customs) รายงานว่าในเดือนตุลาคม 2562 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 450,853 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) รายงานว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 5.56 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยฟิลิปปินส์ เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามคิดเป็นร้อยละ 35.1 นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 เวียดนามยังส่งออกข้าวไปเซเนกัล โกตดิวัวร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง และอิรัก เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 เวียดนามส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 3,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากปี 2560

งานประชุมวิชาการข้าวนานาชาติครั้งที่ 11 หรือ 11th TRT World rice Conference 2019 ระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีการประกาศรางวัล the 11th Annual World's Best Rice Contest ผลปรากฏว่า ข้าวหอมสายพันธุ์ ST24 ของเวียดนามชนะการประกวด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ข้าวเวียดนามชนะการประกวดระดับนานาชาติ โดยข้าวสายพันธุ์นี้เคยได้รางวัลที่ 3 จากการเข้าประกวดเมื่อปี 2560

สำหรับการประชุมและการเจรจาธุรกิจระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของนคร Can Tho กับคณะผู้แทนจากฮ่องกงเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ณ นคร Can Tho นาย Food Che Fuk James กรรมการผู้จัดการบริษัท Kwong Sun Hong ที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง เปิดเผยว่า ข้าวเวียดนามมีราคาต่ำกว่าข้าวไทยมาก อย่างไรก็ตาม ในแง่คุณภาพข้าวไทยดีกว่าข้าวเวียดนาม โดยข้าวไทยยังคงความนุ่ม พองตัว และอร่อยแม้เวลาผ่านไปสองชั่วโมงหลังจากที่ข้าวสุก แต่ด้วยราคาที่ต่ำกว่า ทำให้ข้าวเวียดนามได้รับความนิยมจากร้านอาหารจานด่วน (fast food restaurants) ของฮ่องกง

นาย Lu Benjamin ผู้อำนวยการบริษัท Lui Hing Hop Company ที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง กล่าวว่า ตลาดฮ่องกงได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าวที่เข้าฮ่องกงไม่สูงมากนักและผู้ส่งออกข้าวยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าด้วย

นาย Nguyen Minh Toai ผู้อำนวยการกรมอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ณ นคร Can Tho เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2562 นคร Can Tho มีมูลค่าการส่งออกข้าวไปฮ่องกงรวม 6.6 ล้านดอลลาร์หรัฐฯ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการส่งออกข้าวของนคร Can Tho ในปี 2561 ที่มีมูลค่ารวม 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยการประชุมดังกล่าว นาย Nguyen Trung Kien รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2562 เวียดนามส่งออกข้าวไปฮ่องกงประมาณ 90,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทข้าวหอม และคาดว่าในปี 2563 เวียดนามจะส่งออกข้าวไปฮ่องกงประมาณ 90,000-120,000 ตัน นอกจากนี้นาย Kien ยังระบุว่า ในที่ประชุมผู้ประกอบการเวียดนามได้แนะนำข้าวพันธุ์ใหม่ของเวียดนามให้แก่ฝั่งฮ่องกง และให้คำมั่นที่จะควบคุมปริมาณสารตกค้างในข้าวที่จัดส่งไปฮ่องกงด้วย

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

สำนักงานบริการด้านการส่งออกข้าวของกัมพูชา (Secretariat of One Window Service for Rice Export Formality; SOWS-REF) รายงานว่า การส่งออกข้าวในเดือนตุลาคม 2562 มี 59,354 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.97

เมื่อเทียบกับ 56,541 ตัน ในเดือนกันยายน 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 เมื่อเทียบกับ 45,543 ตัน ในเดือนตุลาคม 2561 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-ตุลาคม) กัมพูชาส่งออกข้าว 457,940 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3

เมื่อเทียบกับ 434,807 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยชนิดข้าวที่ส่งออก ประกอบด้วย ข้าวหอมเกรด Premium เช่น Phka Rumduol/Phka Malis ส่งออก 202,455 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ

ปี 2561 และข้าวหอมชนิดอื่นๆ เช่น Senkraob, Neang Suay ส่งออกจำนวน 184,822 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สำหรับข้าวขาวเมล็ดยาว ส่งออก 64,098 ตัน ลดลงร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และข้าวนึ่งเมล็ดยาว ส่งออก 6,565 ตัน ลดลงร้อยละ 73.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศกัมพูชาส่งออกข้าวไปประเทศจีนมากที่สุด 176,363 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามด้วยประเทศฝรั่งเศส 61,451 ตัน ลดลงร้อยละ 4.0 ประเทศมาเลเซีย 24,924 ตัน ลดลงร้อยละ 23.9 ประเทศเนเธอร์แลนด์ 17,140 ตัน ลดลงร้อยละ 47.6 นอกจากนี้ ยังส่งไปยังประเทศสเปน 11,565 ตัน และประเทศเยอรมนี 8,717 ตัน ปัจจุบันกัมพูชาส่งออกข้าวไปยัง 59 ประเทศทั่วโลก โดยกัมพูชามีผู้ส่งออกข้าว 83 ราย ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดคือ Baitang (Kampuchea) Plc. ซึ่งส่งออกข้าว 60,358 ตัน ตามด้วย Amru Rice (Cambodia) 41,068 ตัน

นาย สอง สราญ (Song Saran) ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่า จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ของข้าวกัมพูชา โดยคาดว่าปีนี้จะส่งออกข้าวไปยังจีนรวม 250,000 ตัน โดยเขาเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าข้าวกัมพูชาจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจีน

ขณะเดียวกัน กัมพูชาส่งออกข้าว 155,950 ตัน ไปยังตลาดยุโรป ซึ่งส่งออกลดลงร้อยละ 27 โดยส่วนแบ่งตลาดข้าวกัมพูชาในสหภาพยุโรป (EU) ลดลงจากร้อยละ 49 เหลือร้อยละ 34 ซึ่งความซบเซาของการส่งออกข้าวไปยังตลาดยุโรปเป็นผลมาจาก EU ได้กำหนดภาษีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเป็นเวลา 3 ปี เพื่อจำกัดการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาและคุ้มครองผู้ผลิตในยุโรป

ในปี 2561 กัมพูชาส่งออกข้าว 626,225 ตัน ลดลงร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับ 635,679 ตัน ในปี2560 โดยส่งออกข้าวหอมทุกชนิด (Fragrant Rice) รวม 493,597 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 79 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.27 เมื่อเทียบกับ 394,027 ตัน ในปี 2560 ส่วนการส่งออกข้าวขาว (White Rice) จำนวน 105,990 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 17 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 32.34 เมื่อเทียบกับ 156,654 ตัน ในปี 2560 และข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) 26,638 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 4 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 68.66 เมื่อเทียบกับ 84,998 ตัน ในปี 2560

สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญในปี 2561 ประกอบด้วย ตลาดสหภาพยุโรป 269,127 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 2.77 เมื่อเทียบกับ 276,805 ตัน ในปี 2560 ตามด้วยตลาดอาเซียน 102,946 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 16 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.58 เมื่อเทียบกับ 51,325 ตัน ในปี 2560 ตลาดจีน 170,154 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 27 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 14.86 เมื่อเทียบกับ 199,857 ตัน ในปี 2560 และตลาดอื่นๆ 83,998 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 13 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 22.0 เมื่อเทียบกับ 107,692 ตัน ในปี 2560

ในปี 2561 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 170,154 ตัน ลดลงร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับ 199,857 ตัน ในปี 2560 ตามด้วยประเทศฝรั่งเศส 86,050 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับ 77,363 ตัน ในปี 2560 มาเลเซีย 40,861 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับ 38,360 ตัน ในปี 2560 โปแลนด์ 23,142 ตัน ลดลงร้อยละ 47.4 เมื่อเทียบกับ 44,023 ตัน ในปี 2560 เนเธอร์แลนด์ 26,714 ตัน ลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับ 27,175 ตัน ในปี 2560 สหราชอาณาจักร 18,178 ตัน ลดลงร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับ 26,775 ตัน ในปี 2560 กาบอง 33,060 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 เมื่อเทียบกับ 24,677 ตัน ในปี 2560 ส่วนประเทศอื่นๆ ที่กัมพูชาส่งออกในปี 2561 เช่น เวียดนาม 26,712 ตัน และไทย 23,816 ตัน เป็นต้น

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

นาย Syahrul Yasin Limpo รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร (Indonesia’s Agriculture Minister) ระบุว่าในปี 2563 คาดว่าอินโดนีเซียจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 59.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.98 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ประมาณการผลผลิต 52.82 ล้านตัน

นาย Airlangga Hartarto รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจกล่าวว่า ปีหน้าอินโดนีเซียจะเริ่มใช้ข้อมูลสินค้าเกษตรและอาหาร (ข้อมูลการผลิตและจำหน่าย) ชุดเดียวแทนการใช้ข้อมูลจากหลายๆ แหล่งเพื่อขจัดความสับสนและความขัดแย้งด้านนโยบายต่างๆ รวมถึงการส่งออกและการนำเข้าระหว่างกระทรวงและสถาบันต่างๆ อย่างในอดีตที่ผ่านมา เช่น ความขัดแย้งด้านนโยบายข้าว การประเมินปริมาณข้าวคงคลังมากเกินไปทำให้ไม่มีการนำเข้า และส่งผลกระทบต่อราคาข้าวภายในประเทศ หรือการนำเข้าข้าวในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งต่อไปข้อมูลทางการเกษตรทั้งหมดจะมาจากกระทรวงเกษตรและการวางแผนเชิงพื้นที่

นาย Syahrul Yasin Limpo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกประการคือ การหารือเรื่องพื้นที่ในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม และการพิจารณาภัยพิบัติทางธรรมชาติจากภาพถ่ายดาวเทียมและปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงดูประชากร 260 ล้านคนได้

ทั้งนี้ การปรับปรุงข้อมูลการเกษตรอาหารของอินโดนีเซีย จะส่งผลให้การประมาณการการนำเข้าสินค้าเกษตรของอินโดนีเซียมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่อินโดนีเซียมุ่งมั่นลดการนำเข้า เพื่อช่วยลดการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ทั้งนี้ อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังคงขาดแคลนด้านเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเกษตรของไทยที่สามารถขยายตลาดการส่งออกมายังอินโดนีเซีย สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่าชาวอินโดนีเซียตื่นตัวร่วมกันรณรงค์ลดละเลิกการรับประทานข้าวซึ่งเป็นธัญพืชอาหารหลักของประเทศหลังจากมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานจากการกินข้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ

โครงการรณรงค์ลดละเลิกรับประทานข้าวในอินโดนีเซียนี้ มีชื่อว่า “No Rice Movement” รณรงค์ให้ ประชาชนลดละเลิกนิสัยติดการกินข้าว หันมากินอาหารอื่นๆ ทั้งผัก เนื้อสัตว์ และถั่วมากขึ้น โดยมีการรณรงค์ทางโซเชียลมีเดียและจากรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งรัฐบาลเมืองยอร์คยาการ์ตา เมืองหลวงด้านเกษตรกรรมของประเทศ โดยขอให้ประชาชนงดกินข้าวอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม การลดเลิกการกินข้าวเป็นเรื่องที่ยากสำหรับชาวอินโดนีเซีย ซึ่งถูกปลูกฝังนิสัยติดการกินข้าวมายาวนาน โดยเฉพาะสมัยอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการซูฮาร์โต ยุคทศวรรษ 1970 ได้รณรงค์ให้ประชาชนกินข้าว เป็นอาหารหลักแทนข้าวโพด มันฝรั่ง และธัญพืชอื่น

ตัวอย่างหนึ่งของผู้พยายามลดเลิกการกินข้าว คือ นางเมอร์นาวาตี อดีตลูกจ้างบริษัทก่อสร้างวัย 34 ปี ซึ่งเผยว่าสัปดาห์แรกที่เลิกกินข้าวรู้สึกเหมือนถูกผีเข้าสิง แต่หลังลดเลิกกินข้าวได้ 4 เดือน เธอและสมาชิกครอบครัวจะไม่หวนกลับไปกินข้าวมากๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว

ในวันเบาหวานโลกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานทั่วโลกราว 425 ล้านคน รวมทั้ง 20 ล้านคน ในอินโดนีเซีย (จากประชากรทั้งประเทศราว 260 ล้านคน) โดยอินโดนีเซียเป็นชาติที่นิยมบริโภคข้าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และโรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เช่น อินโดนีเซีย ทั้งนี้แม้ข้าวเป็นอาหารที่มีกากใย คาร์โบไฮเดรต และวิตามินต่างๆ สูง แต่ถ้ากินมากเกินไปจะนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน เพราะข้าวทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และร่างกายต่อต้านสารอินซูลิน โรคเบาหวานยังนำไปสู่โรคร้ายอื่นๆ ทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก หัวใจวาย ตาบอด หรือผู้ป่วยต้องถูกตัดอวัยวะแขนขา

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ