สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 29, 2019 13:49 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 22 - 28 พฤศจิกายน 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว (4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด และได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 -28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ จะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกๆ 15 วัน จนถึงวันสิ้นสุดการใช้สิทธิตามโครงการประกันรายได้ฯ โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,006 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,510 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.47

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,811 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,930 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.51

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 32,430 บาท ราคาลดลงจากตันละ 34,390 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.69

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,270 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,250 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,860 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,098 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,865 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 5 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,701 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,601 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 100 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,491 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,428 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 414 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,401 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 9 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.9546

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2562/63 ณ เดือนพฤศจิกายน 2562

มีผลผลิต 497.756 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 499.342 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2561/62 หรือลดลงร้อยละ 0.32

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลก ปี 2562/63 ณ เดือนพฤศจิกายน 2562 มีปริมาณผลผลิต 497.756 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2561/62 ร้อยละ 0.32 การใช้ในประเทศ 494.006 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2561/62 ร้อยละ 1.10 การส่งออก/นำเข้า 46.199 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 3.31 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 177.044 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2561/62 ร้อยละ 2.16

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา จีน กายานา อินเดีย แอฟริกาใต้ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ปากีสถาน ปารากวัย และรัสเซีย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน บราซิล เบอร์กินา คาเมรูน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา กินี อินโดนีเซีย เคนย่า เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อียู อิหร่าน อิรัก และฟิลิปปินส์

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย-จีน

จีนเร่งขึ้นทะเบียนผู้ผลิตแปรรูปข้าวลอต 2 ชาวนาไทยเฮ ยอดส่งขายเพิ่มอีกกว่าล้านตัน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังหารือกับนายจาง จี้เหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ว่า การหารือดังกล่าวเพื่อขอบคุณ GACC ที่ให้ความสำคัญกับการส่งออกข้าวจากไทยไปจีน โดยฝ่ายไทยเสนอรายชื่อผู้ผลิตฯ ชุดที่ 2 ให้ GACC เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนแล้ว ซึ่ง GACC แจ้งว่าจะเร่งพิจารณารายละเอียดการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตฯ ดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

สำหรับประเทศจีนแจ้งว่า ข้าวไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในจีน และจีนให้ความสำคัญกับการนำสินค้าเกษตรคุณภาพสูงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวจากไทย ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไทยได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 49 รายซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME รายย่อย จึงมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเพื่อส่งออกไปจีน จึงถือเป็นข่าวดีที่จีนตอบรับที่จะให้การสนับสนุนและเร่งรัดในการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอีกลอตใหญ่ คาดว่าข้าวไทยกว่า 1 ล้านตัน จะส่งออกมายังจีนเร็ววันนี้

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังหารือเพิ่มเติมด้านการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีนที่สำคัญ อาทิ เร่งรัดพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนด้านการตรวจสอบกักกันผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ส่งออกจากไทยไปจีน เร่งรัดการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้เพิ่มเติม การส่งออกสุกรแช่เย็นแช่แข็งของไทย การส่งออกโคเนื้อมีชีวิตจากไทยไปจีน การส่งออกรังนกดิบ การตรวจประเมินโรงงานผู้ผลิตสัตว์ปีก รวมทั้งการขอให้ด่านตงซิง ซึ่งเป็นด่านนำเข้าผลไม้แห่งที่สองของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยรัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากต่างประเทศแล้ว ยังสามารถนำเข้าผลไม้ไทยผ่านการขนส่งทางบกเช่นเดียวกับด่านโหย่วอี้กว่าน เพื่อรองรับการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนในอนาคต ทั้งนี้ ฝ่ายจีนจะนำทุกข้อเสนอของฝ่ายไทยไปพิจารณาข้อมูลในด้านเทคนิคและจะประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นที่พอใจอย่างเร็วที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ฟิลิปปินส์

นาย William Dar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (Agriculture Secretary) ประกาศหลังการประชุมกับประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าได้สั่งระงับการนำเข้าข้าวหลังมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นผู้ซื้ออันดับต้นของโลกในปีนี้ และส่งผลให้เกิดปัญหาราคาข้าวในประเทศตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร โดยนาย William Dar ระบุว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะไม่ระงับการนำเข้าข้าวตามกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ แต่จะใช้มาตรการด้านความปลอดภัยอาหารเพื่อควบคุมการนำเข้าข้าวแทน

นาย William Dar กล่าวว่า ประธานาธิบดี Duterte ได้ออกคำสั่งให้กระทรวงเกษตร (the Department of Agriculture) ผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry) ดำเนินมาตรการด้านสุขอนามัยและ สุขอนามัยพืชให้เข้มงวดมากขึ้น โดยหน่วยงานจะดำเนินการตรวจสอบล่วงหน้า ณ จุดต้นทางของข้าวนำเข้าเพื่อรับรองคุณภาพและความปลอดภัยของข้าวสำหรับผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการแพร่กระจายของศัตรูพืชและโรคพืชด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยด้านอาหารที่เข้มงวดขึ้น ช่วยให้ปริมาณการนำเข้าข้าวลดลงเหลือเพียง 85,000 ตัน ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งลดลงจากระดับเฉลี่ย 254,000 ตันต่อเดือน ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรับประกันว่าเกษตรกรฟิลิปปินส์จะสามารถขายข้าวและมีกำไร ประธานาธิบดี Duterte ได้สั่งการให้องค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority) เป็นผู้ดำเนินการจัดหาข้าวจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีข้าวสำรองเป็นสองเท่า คือมีสต็อกเพียงพอสำหรับ 30 วัน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤศจิกายน 2562 ราคาข้าวเปลือกเริ่มขยับสูงขึ้น ขณะที่ข้าวสารยังคงปรับลดลงจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (ราคาข้าวเคยสูงขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน 2561) โดยราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย (The average farm-gate paddy price) อยู่ที่ 15.52 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 305.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มจาก 15.36 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 304.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในช่วงสัปดาห์ก่อน และลดลงร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารเกรดดี (The average wholesale price of the well-milled rice) อยู่ที่ระดับ 37.57 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 738.79 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 37.6 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 744.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนราคาขายปลีกข้าวสารเกรดดี (The average retail price of the well-milled rice) อยู่ที่ 41.73 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 820.59 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 41.75 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 827.03 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับราคา

ขายส่งข้าวสารเกรดธรรมดา (The average wholesale price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 33.42 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 657.18 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 33.69 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 667.37 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และลดลงร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาขายปลีกข้าวสารเกรดธรรมดา (The average retail price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 36.82 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 724.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจาก 37.02 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 735.11 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน และลดลงร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา รายงานว่า กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์จะยกระดับความเข้มงวดก่อนออกใบอนุญาตสุขอนามัยในการนำเข้าข้าว เพื่อชะลอการนำเข้าในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาจะได้รับ

นาย William D. Dar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ได้ลงนามออกคำสั่ง Memorandum Order No. 28 on Supplementary provision to DA Department Circular No.4, series of 2016 เกี่ยวกับ Guidelines on the importation of plants, planting materials and plant products for commercial purposes เพื่อกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ได้ยกระดับความเข้มงวดในขั้นตอนการออกใบอนุญาตสุขอนามัยในการนำเข้า (Sanitary and phytosanitary import clearance: SPSIC) สินค้าข้าว ครอบคลุมการตรวจสอบสารโลหะหนัก ระดับสารตกค้างกำจัดศัตรูพืช สารปนเปื้อน/ สิ่งสกปรกภายนอก รวมทั้ง microbiological parameters โดยอ้างว่าเป็นมาตรการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร ซึ่ง นาย William D. Dar กล่าวเพิ่มเติมว่า การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ในการช่วยชะลอการนำเข้าข้าวในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวของเกษตรกรชาวนา (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562) ทั้งนี้ ในกฎระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้สินค้าข้าวต้องจัดส่งจากประเทศต้นทางภายในวันที่กำหนดตามที่ได้รับอนุมัติ และสินค้าต้องเดินทางมาถึงไม่ช้ากว่า 60 วัน จากวันที่จัดส่ง สำหรับใบ SPSIC ออกโดยหน่วยงาน Bureau of Plant Industry (BPI) ภายใต้กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ โดยสถิติของ BPI แจ้งว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม 2562 มีการออกใบอนุญาตดังกล่าว จำนวน 3,115 ฉบับ ให้แก่ผู้นำเข้า 228 ราย ปริมาณรวม 2.776 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าระดับปริมาณข้าวที่จำเป็นต้องนำเข้าประมาณ 1.5-2.4 ล้านตัน

สถิติการนำเข้าจากกรมศุลกากรฟิลิปปินส์ รายงานว่า ในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (มกราคม-ตุลาคม) ฟิลิปปินส์มีปริมาณนำเข้าข้าวรวมกว่า 2.9 ล้านตัน โดยปริมาณ 1.87 ล้านตัน เป็นการนำเข้าในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม-ตุลาคม (หลังจากกฎหมายเปิดเสรีนำเข้าข้าวมีผลบังคับใช้) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยเป็นการนำเข้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 (สัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของการนำเข้าทั้งหมด) รองลงมาได้แก่ ไทย (สัดส่วนประมาณร้อยละ 14) และเมียนมา (สัดส่วนประมาณร้อยละ 8) ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (United Department of Agriculture; USDA) รายงานว่าในปี 2562 คาดว่า ฟิลิปปินส์จะกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวใหญ่ที่สุดในตลาดโลกแซงหน้าจีน โดยคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้ ฟิลิปปินส์น่าจะนำเข้าข้าวสูงถึง 3 ล้านตัน หลังจากประเทศเปิดการค้าเสรีการนำเข้าข้าว ในขณะที่จีนคาดว่าจะนำเข้าข้าวลดลงเหลือเพียง 2.5 ล้านตัน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.15 ล้านตัน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ รายงานว่า ในปี 2562 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวเกือบ 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับการนำเข้าข้าวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการนำเข้าข้าวประมาณ 8 แสนตัน โดยปริมาณการนำเข้าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของการนำเข้าข้าวในตลาดโลก ในขณะเดียวกันจีนกลับมีการนำเข้าข้าวลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง โดยสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-6 ของการนำเข้าข้าวในตลาดโลก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรในปัจจุบันของจีนที่มีมากถึง 1.4 พันล้านคน ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีจำนวนประชากร 110 ล้านคน

ในปีนี้ ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 58 เมื่อเทียบกับปริมาณการนำเข้าในปี 2561 ที่มีการนำเข้า ประมาณ 1.9 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้กฎหมายเปิดเสรีนำเข้าข้าวเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา ทำให้ปริมาณการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ราคาข้าวในประเทศลดลงมาก

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 คาดการณ์ว่า ฟิลิปปินส์จะลดปริมาณการนำเข้าข้าวที่มากเกินไปลง และจะหันมา ปรับปรุงการผลิตข้าวภายในประเทศ โดยคาดว่าในปี 2563 ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวประมาณ 2.5 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับ ปริมาณการนำเข้าข้าวในปีนี้ของจีน ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้าข้าวที่ลดลงอาจเป็นผลสะท้อนจากการเปิดไต่สวนขั้นต้น เพื่อใช้มาตรการ Safeguard ในส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าวของฟิลิปปินส์ในปี 2562 คาดว่า จะลดลงอยู่ที่ประมาณ 29.38 ล้านไร่ จาก 29.62 ล้านไร่ ในปี 2561 หรือลดลงประมาณร้อยละ 0.8 ส่วนผลผลิตข้าวในประเทศคาดว่าในปี 2562 จะมีปริมาณ 12 ล้านตัน เท่ากับปี 2561 สำหรับการบริโภคข้าวในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 14.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 14.1 ล้านตัน ในปี 2561

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติของฟิลิปปินส์ (Philippine Statistics Authority: PSA) รายงานว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณข้าวในสต็อกของประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในเดือนกันยายนมีปริมาณสต็อกข้าวอยู่ที่ 1.84 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 จากปีก่อน ที่มีปริมาณสต็อกข้าวอยู่ที่ 1.16 ล้านตัน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการบริโภคข้าวในประเทศของชาวฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ที่ 32,000 ตันต่อวัน ทำให้ปริมาณสต็อกข้าวในปัจจุบันมีสำรองเพียงพอต่อการบริโภคประมาณ 58 วันในช่วง 8 เดือนของปี 2562 (มกราคม-สิงหาคม) ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวประมาณ 2.33 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีปริมาณนำเข้าประมาณ 0.98 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 138.33 โดยนำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 1.63 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.28 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ไทยร้อยละ 13.85 และเมียนมาร้อยละ 8.49 โดยแนวโน้มการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง ซึ่ง USDA คาดการณ์ว่า ฟิลิปปินส์จะ นำเข้าข้าวในปีนี้ถึง 3 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดข้าวภายในประเทศฟิลิปปินส์มีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน และขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวหลัก (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) โดยกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์พิจารณาจะใช้มาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวดขึ้นเพื่อชะลอการนำเข้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรชาวนาได้รับ ดังนั้น การนำเข้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อาจจะมีการขยายตัวไม่มากนักตามที่ USDA คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นตลาดสำคัญของข้าวไทยในภูมิภาคเอเชียที่มีการซื้อขายข้าวระหว่างกันในรูปแบบ G to G เป็นหลักในอดีต แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเปิดเสรีนำเข้าข้าวโดยเอกชน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของข้าวไทย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันข้าวไทยมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนาม ทำให้ไทยไม่สามารถช่วงชิงโอกาสดังกล่าวในการขยายการส่งออกมาฟิลิปปินส์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างเนื่องส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมและมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการเจาะตลาดในฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มข้าวคุณภาพดีและข้าวเพื่อสุขภาพของไทย เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้อง เป็นต้น เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่และมีกำลังซื้อในฟิลิปปินส์หันมาสนใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ