สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 16, 2019 14:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 6 - 12 ธันวาคม 2562

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 และมติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562

การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือก อุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และ รอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริม การปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศ ได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร (2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด และได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์ (ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,490 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,278 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.60

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,808 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,813 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.07

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 31,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,375 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,350 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,093 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,829 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,705 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,495 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,405 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.0355

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63 ซึ่งเป็นโครงการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกอบด้วย 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 2562/63 เพื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวในยุ้งฉาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท และวงเงินงบประมาณจ่ายขาด 2,870 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าฝากเก็บ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวในยุ้งฉางของตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2562/63 วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 – 31 ธันวาคม 2563 และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปี 2562/63 เป้าหมายเพื่อดูดซับผลผลิตปริมาณ 4 ล้านตัน โดยใช้เงินคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ วงเงินชดเชย 510 ล้านบาท

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นบข. ได้อนุมัติจัดสรรวงเงินเพิ่มเติม โครงการสินเชื่อชะลอข้าวเปลือกอีก 1,370 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรวงเงินงบประมาณปี 2564 และปีต่อๆ ไปด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นบข. ยังได้รับทราบแนวโน้มการส่งออกข้าวไทย ช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2562 ปริมาณและมูลค่า ลดลงร้อยละ 28 และร้อยละ 2.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวลดลงทำให้การส่งออกตลอดทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 8 ล้านตัน ไม่ถึงเป้าหมาย 9 ล้านตัน สาเหตุที่การส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ปรับลดลง เนื่องจากปีนี้การค้าข้าวในตลาดโลกชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี ทำให้ไทยส่งออกข้าวลดลง ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ ขณะที่ความต้องการซื้อข้าวของประเทศผู้นำเข้าลดลง อีกทั้งจีนมีสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น และได้เปลี่ยนจากผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญในตลาดโลก ประกอบกับต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคาจากประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย

สถานการณ์การแข่งขันของผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลก ปีการผลิต 2562/63 ประเทศผู้ส่งออกข้าวยังคงมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง โดยคาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวโลกมีประมาณ 497.77 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 0.24 จากปีที่ผ่านมา การค้าข้าวโลกมีประมาณ 46.30 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปีที่ผ่านมา ขณะที่สต็อกข้าวโลกคาดว่ามีประมาณ175.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งปริมาณสต็อกข้าวที่เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในปีหน้าได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ฟิลิปปินส์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา รายงานว่า หลังจากที่ประธานาธิบดีดูแตร์เต ออกคำสั่งประกาศระงับการนำเข้าข้าว (Suspending Rice Importation) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ล่าสุดได้เปลี่ยนใจถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าผลผลิตข้าวในประเทศจะเพียงพอต่อความต้องการจากผลกระทบพายุไต้ฝุ่นที่ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญเป็นประจำ

ประธานาธิบดีโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต แจ้งว่าหลังจากประชุมหารือกับ Mr. Salvador Medialdea Executive Secretary, Mr. William Dar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และ Mr. Carlos Dominguez III รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตัดสินใจยกเลิกคำสั่งการระงับการนำเข้าข้าว (Suspending Rice Importation) เนื่องจากเห็นว่าผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์มีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เพราะฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าพายุไต้ฝุ่นจะเข้ามาทำลายผลผลิต พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวเมื่อไหร่ และปริมาณผลผลิตจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศหรือไม่ ซึ่งฟิลิปปินส์ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อเติมเต็มความต้องการใช้ภายในประเทศ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีดูแตร์เตได้ออกคำสั่งระงับการนำเข้าข้าว เพื่อหวังจะช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณการนำเข้าข้าวจำนวนมาก ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวประธานาธิบดีดูแตร์เตอ้างว่าเขาเข้าใจผิดอย่างมาก

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีดูแตร์เตกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรับซื้อ ข้าวเปลือกจากเกษตรกรทั้งหมด แม้ว่าจะทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าเกษตรกรประสบความยากลำบากอาจจะเข้าร่วมกับกองกำลังประชาชนใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อนั้นจะยิ่งทำให้รัฐบาลเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยประธานาธิบดีดูแตร์เตกล่าวว่า การซื้อข้าวเปลือกดังกล่าวเป็นการซื้อความไม่สงบทางสังคม

ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้แสดงท่าทีว่ายังคงใช้กฎหมายเปิดเสรีนำเข้าข้าวต่อไป โดยกลุ่มเกษตรกรกำลังพยายามผลักดันให้มีการใช้มาตรการ Safeguard อีกครั้ง ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งฟิลิปปินส์ กล่าวว่าการใช้มาตรการ Safeguard เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาปริมาณการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

การเปิดเสรีนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ ส่งผลดีและผลเสียต่อการส่งออกข้าวไทยไปยังฟิลิปปินส์ โดยการเปิดเสรีนำเข้า ทำให้ตลาดเปิดกว้างขึ้น ส่งออกได้ง่ายและสะดวกขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกฎหมายเปิดเสรีนำเข้าข้าวดังกล่าว กลับส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวภายในประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้สถานการณ์ตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ขณะนี้มีความไม่แน่นอนและอ่อนไหวสูง ทั้งนี้ จากสถิติกรมศุลกากรฟิลิปปินส์ รายงานว่าจนถึงปัจจุบันฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวแล้วกว่า 2.9 ล้านตัน มากกว่าการนำเข้าปีที่ผ่านมาถึงสองเท่าที่มีปริมาณ 1.3 ล้านตัน โดยนำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 70 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ไทย ร้อยละ 14 และเมียนมา ร้อยละ 8 ซึ่งปริมาณการนำเข้าข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากการเปิดเสรีนำเข้าข้าว และส่งผลให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลกในปีนี้ แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน

อย่างไรก็ดี จากสถิติพบว่าแนวโน้มการนำเข้าข้าวจากไทยกลับลดลง เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยประสบความยากลำบากในการแข่งขันด้านราคา โดยตลาดข้าวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดระดับล่าง ผู้บริโภคมองเรื่องราคาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อ จึงทำให้ข้าวไทยไม่สามารถขยายการส่งออกมาฟิลิปปินส์ได้ ดังนั้นในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยอาจจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกับลูกค้า เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดี ตลอดจนมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการเจาะตลาดในฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มข้าวคุณภาพดีและข้าวเพื่อสุขภาพของไทย เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวอินทรีย์ และข้าวกล้อง เป็นต้น เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่และมีกำลังซื้อในฟิลิปปินส์ หันมาสนใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน 2562 ราคาข้าวเปลือกขยับสูงขึ้น ขณะที่ข้าวสารยังคงปรับลดลงจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (ราคาข้าวเคยพุ่งสูงขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน 2561) โดยราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย (The average farm-gate paddy price) อยู่ที่ 15.45 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 304.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจาก 15.44 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 303.62 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ลดลงประมาณร้อยละ 23.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารเกรดดี (The average wholesale price of the well-milled rice) อยู่ที่ 37.39 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 735.94 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 37.55 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 738.39 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และลดลงประมาณร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนราคาขายปลีกข้าวสารเกรดดี (The average retail price of the well-milled rice) อยู่ที่ 41.60 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 818.80 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 41.67 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 819.81 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และลดลงประมาณร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับราคาขายส่งข้าวสารเกรดธรรมดา (The average wholesale price of the regular-milled rice) กิโลกรัมละ 33.27 เปโซ หรือประมาณตันละ 654.84 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากกิโลกรัมละ 33.38 เปโซ หรือประมาณตันละ 656.39 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และลดลงประมาณร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ

ปีที่ผ่านมา และราคาขายปลีกข้าวสารเกรดธรรมดา (The average retail price of the regular-milled rice) กิโลกรัมละ 36.69 เปโซ หรือประมาณตันละ 722.16 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากกิโลกรัมละ 36.83 เปโซ หรือประมาณตันละ 724.24 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และลดลงประมาณร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา รายงานว่า หน่วยงาน The Mindanao Development Authority (MinDA) กล่าวว่า ในปีหน้าโครงการเกี่ยวกับการผลิตและการส่งออกข้าวออร์แกนิคได้รับการจัดให้เป็นโครงการที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ สำหรับเขตเกาะทางใต้ของฟิลิปปินส์ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะทำงานด้านเทคนิคในการรับรองข้าวอินทรีย์ของ MinDA ได้จัดโรดโชว์แสดงมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์สากล ณ เมือง Molave, Zamboanga del Sur มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวออร์แกนิคเข้าร่วมงานกว่า 200 ราย จากจังหวัด Lanao del Norte, Misamis Occidental, Zamboanga del Norte และ Zamboangadel Sur โดยนาง Janet M. Lopoz ผู้บริหารหน่วยงาน MinDA กล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วนในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นาย Olie B. Dagala ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ MinDA กล่าวว่า การพัฒนาข้าวออร์แกนิคที่มีมูลค่าสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผลกระทบจากกฎหมายการเปิดเสรีนำเข้าข้าว (Republic Act 11203) ที่มีการลดข้อจำกัดปริมาณการนำเข้าข้าวและใช้วิธีเก็บภาษีในการควบคุมนำเข้า ซึ่งหลังจากการบังคับใช้กฎหมายการเปิดเสรีนำเข้าข้าว หน่วยงานได้ดำเนินการตรวจสอบว่ามีเกษตรกรที่ละทิ้งการปลูกข้าวหรือเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชอย่างอื่นจากผลกระทบกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้าวออร์แกนิคเป็นสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่สามารถสร้างกำไรสูงและมี ศักยภาพในการส่งออกแต่การปลูกข้าวออร์แกนิคยังมีไม่มากนักในปัจจุบันทั้งนี้ ตลาดข้าวออร์แกนิคในฟิลิปปินส์ยังมีขนาดค่อนข้างจำกัด และได้รับความนิยมเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและมีกำลังซื้อ เนื่องจากมีราคาสูงเมื่อเทียบกับข้าวชนิดอื่นๆ แต่คาดว่าแนวโน้มของกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี การเกษตรอินทรีย์ในฟิลิปปินส์ยังไม่ได้รับการพัฒนามากนักและยังไม่ได้มาตรฐานในระดับสากล นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่เพาะปลูกข้าวและประสบภัยธรรมชาติบ่อย ประกอบกับปัจจุบันมีการเปิดเสรีนำเข้าข้าว ทำให้ปริมาณข้าวจากต่างประเทศมีราคาถูกและเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์จำนวนมาก ทำให้เกษตรกรฟิลิปปินส์จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งการที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ออกมาให้การสนับสนุนโครงการข้าวอินทรีย์แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของข้าวอินทรีย์ในฟิลิปปินส์ในอนาคต

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ