สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 21, 2020 15:58 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2563

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย(10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึง เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,008 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,573 บาทเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.20

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,191 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,891 บาทเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.80

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 31,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,062 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,866 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,064 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,897 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 453 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,019 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,820 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.34 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 199 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,740 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,604 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 136 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 449 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,895 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,728 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.12 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 167 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9469

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในสัปดาห์ที ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับภาวการณ์ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID 19) ที่ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันทางการค้า ประกอบกับมีการจำกัดการเดินทางของประชาชนชาวจีน โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 355-360 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับเมื่อสัปดาห์ก่อนขณะที่วงการค้าคาดว่าผลผลิตข้าวฤดูใหม่ (winter-spring crop) จะออกสู่ตลาดปริมาณสูงสุดในช่วงปลายเดือนนี้

สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association; VFA) คาดว่าในปี 2563 นี้ จะส่งออกข้าวได้ ประมาณ 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากคาดว่าความต้องการข้าวจากต่างประเทศจะมีอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาข้าวเวียดนามสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้ส่วนการระบาดของ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) คาดว่าจะไม่มีผลต่อการส่งออกไปยังประเทศจีน

กรมศุลกากร (the General Department of Customs) รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2563 เวียดนาม ส่งออกข้าวประมาณ 410,855 ตัน มูลค่า 196.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 17.8 และร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 (เดือนธันวาคม 2562 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 499,573 ตัน มูลค่า 227.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณลดลงร้อยละ 6.1 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 ทั้งนี้ ราคาส่งออกเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ตันละ 478.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562

ทั้งนี้ ประเทศที่เวียดนามส่งออกข้าวในเดือนมกราคม 2563 รายใหญ่ที่สุดเป็นประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเวียดนามส่งออกประมาณ 0.135 ล้านตัน มูลค่า 61.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 39.3 และร้อยละ 32.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ตามด้วยอิรักประมาณ 0.06 ล้านตัน มูลค่า 31.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาเลเซียประมาณ 0.027 ล้านตัน มูลค่า 12.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 101.19 และร้อยละ 63.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) จีนประมาณ 0.018 ล้านตัน มูลค่า 10.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 121.3 และร้อยละ 176.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) กาน่าประมาณ 0.0147 ล้านตัน มูลค่า 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 11.51 และร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) โมซัมบิกประมาณ 0.0126 ล้านตัน มูลค่า 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิงคโปร์ประมาณ 6,219 ตัน มูลค่า 3.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 8.97 และร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ไอวอรีโคสต์ประมาณ 5,891 ตัน มูลค่า 2.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 72.31 และร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ฮ่องกงประมาณ 4,657 ตัน มูลค่า 2.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 84.07 และร้อยละ 80.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ประมาณ 3,597 ตัน มูลค่า 1.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 40.61 และร้อยละ 41.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน)

ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนธันวาคม 2562 เวียดนามส่งออกข้าว 495,811 ตัน ลดลงร้อยละ 34.1 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ส่งออก 369,777 ตัน

โดยในเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ชนิดข้าวที่เวียดนามส่งออกประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 408,518 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 184 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 114 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 2,601 ตัน ปลายข้าวขาวจำนวน 2,316 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 6,361 ตัน ข้าวหอมจำนวน 53,932 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 21,785 ตัน โดยส่งไปยังตลาดในภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย ตลาดเอเชียจำนวน 275,685 ตัน ตลาดแอฟริกาจำนวน 113,621 ตัน ตลาดยุโรปและกลุ่ม CIS จำนวน 2,665 ตัน ตลาดอเมริกาจำนวน 95,501 ตัน ตลาดออสเตรเลียและโอเชียเนียจำนวน 6,685 ตัน และตลาดอื่นๆ จำนวน 1,654 ตัน

ทั้งนี้ ในปี 2562 (มกราคม-ธันวาคม) เวียดนามส่งออกข้าวรวม 6,609,381 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.26 เมื่อเทียบ กับจำนวน 6,592,150 ตัน ในปี 2561 โดยชนิดข้าวที่เวียดนามส่งออกประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 3,192,709 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 59,575 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 151,251 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 161,557 ตัน ปลายข้าวขาวจำนวน 198,132 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 518,231 ตัน ข้าวหอมจำนวน 1,914,585 ตัน และข้าวอื่นๆ

จำนวน 413,341 ตัน โดยส่งไปยังตลาดในภูมิภาคต่างประกอบด้วย ตลาดเอเชียจำนวน 4,351,370 ตัน ตลาดแอฟริกา 1,416,769 ตัน ตลาดยุโรปและกลุ่ม CIS จำนวน 102,680 ตัน ตลาดอเมริกาจำนวน 468,421 ตัน ตลาดออสเตรเลียและโอเชียเนียจำนวน 245,664 ตัน และตลาดอื่นๆ จำนวน 24,477 ตัน

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 มีจำนวน 2.675 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภค 84 วัน (คำนวณจากความต้องการบริโภควันละประมาณ 32,000 ตัน) ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 90 วัน โดยปริมาณสต็อกข้าวลดลงร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 3.098 ล้านตัน ในเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.551 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2562

ทั้งนี้ สต็อกในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) มีจำนวน 0.525 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 436.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.097 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.6 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 16 วัน) โดยสต็อกข้าวของ NFA เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.481 ล้านตัน ในเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

ขณะที่สต็อกในคลังของเอกชน (Commercial warehouses) มีจำนวน 0.952 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.205 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.6 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 30 วัน) และลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.009 ล้านตัน ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนสต็อกในภาคครัวเรือน (Household stocks) มีจำนวน 1.198 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.248 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.8 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 37 วัน) และลดลงร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.608 ล้านตัน ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Agency; PSA) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคม 2563 ราคาข้าวเปลือกขยับสูงขึ้นแต่ราคาข้าวสารอ่อนตัวลงจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (ราคาข้าวเคยขยับสูงขึ้นสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน 2561) โดยราคาข้าวเปลือกเฉลี่ย (The average farm-gate paddy price) อยู่ที่ 15.94 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 315.64 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจาก 15.82 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 313.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ ผ่านมา

ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารเกรดดี (The average wholesale price of the well-milled rice) อยู่ที่ 37.01 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 732.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 37.35 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 736.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนราคา ขายปลีกข้าวสารเกรดดี (The average retail price of the well-milled rice) อยู่ที่ 41.3 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 817.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 41.38 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 815.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ราคาขายส่งข้าวสารเกรดธรรมดา (The average wholesale price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 32.96 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 652.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 32.97 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 649.91 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาขายปลีกข้าวสารเกรดธรรมดา (The average retail price of the regular-milled rice) อยู่ที่ 36.44 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณตันละ 721.58 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับ 36.42 เปโซต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 717.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน และลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เกาหลี: รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดโอกาสประมูลข้าวให้แก่ผู้ส่งออกไทย จำนวน 28,494 ตัน ในปี 2563

ตามที่รัฐบาลไทย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาหารือร่วมกับผู้ส่งออกข้าวจาก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ จีน ออสเตรเลีย และเวียดนาม ในการยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาลเกาหลีในการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในการประมูลการนำเข้าข้าว โดยให้มีการจัดสรรโควตาเป็นรายประเทศ ซึ่งได้มีการลงนามความตกลง จัดสรรโควตาข้าว ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างเกาหลี กับ ไทย ออสเตรเลีย จีน สหรัฐฯ และเวียดนาม เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยในส่วนของไทยได้รับจัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปเกาหลีใต้ ในปริมาณ 28,494 ตันต่อปี อัตราภาษีร้อยละ 5 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 นับเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถขยายการส่งออกข้าวไปยังเกาหลีใต้ได้เพิ่มขึ้น นอกจากโควตาเฉพาะรายประเทศที่เกาหลีใต้จัดสรรให้แก่ไทยแล้ว เกาหลีใต้ยังได้จัดสรรโควตารวมที่เกาหลีให้แก่ทุกประเทศภายใต้ WTO อีกปริมาณ 20,000 ตันต่อปี อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 5 ซึ่งทุกประเทศ รวมทั้งไทย สามารถใช้ประโยชน์จากโควตารวมนี้ได้ ทั้งนี้ หากต้องการนำเข้าข้าวนอกเหนือจากโควตาดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีจะเรียกเก็บเสียภาษีสูงถึงร้อยละ 513

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้แจ้งกำหนดการประมูลข้าวของหน่วยงาน Agriculture Trade Center (AT Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดประมูลข้าวของเกาหลีได้ประกาศกำหนดการประมูลข้าวแบบรายประเทศ (Tariff Rate Quota : TRQ) ประจำปี 2563 ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. กำหนดการเปิดประมูลข้าวประจำปี 2563 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ได้ประกาศตารางการประมูลในเดือน มกราคม มีนาคม และพฤษภาคม ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ผู้ประมูลจะต้องยื่นประมูลอีก 2-3 ครั้ง โดยขึ้นกับสถานการณ์ของผลผลิตข้าวภายในประเทศ

2. ปริมาณข้าวที่เปิดประมูลในรูปแบบ Tariff Rate Quota : TRQ ช่วงครึ่งแรกของปี รัฐบาลเกาหลี มีแผนในการสั่งซื้อร้อยละ 50 ของปริมาณ 408,000 ตัน รวมทั้งปริมาณโควตาข้าวที่ประมูลจากรายประเทศ

โควตาการประมูลข้าวแบบรายประเทศ Country Specific Quota : CSQ ประจำปี 2563 มีรายละเอียด ดังนี้

(milled rice basis)

       China            157,195MT
       U.S.             132,304MT
CSQ    Vietnam           55,115MT
       Thailand          28,494MT
       Australia         15,595MT

ขั้นตอนสำหรับผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมการประมูลข้าวของรัฐบาลเกาหลีของหน่วยงาน AT Center นั้น ผู้นำเข้าเกาหลี จะต้องเป็นผู้ยื่นประมูลในแต่ละครั้ง ตามการประกาศของหน่วยงาน AT Centerในแต่ละรอบ โดย จะมีการระบุรายละเอียด เรื่องกำหนดเวลาการประมูล ประเภท และปริมาณของข้าว ในการประกาศ รายละเอียดในเว็บไซต์ของ

AT Center ก่อนล่วงหน้า ซึ่งถ้าผู้นำเข้าเกาหลีประสงค์จะประมูลในส่วนโควตาของประเทศไทย ผู้นำเข้าเกาหลีจะต้องเป็นผู้ยื่นประมูลต่อรัฐบาลเกาหลี โดยมีการเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกของไทย ในเรื่องราคา ประเภทของข้าวที่รัฐบาล

เกาหลีกำหนด และปริมาณไว้แล้ว ทั้งนี้ ส่วนมากข้าวที่เปิดประมูลสำหรับประเทศไทยเป็นข้าวประเภท Non-Glutinous Brown Rice Long Grain เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพื่อการบริโภค

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ