สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 6, 2020 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 28 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2563

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย(10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกร

ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                               ราคาประกันรายได้        ครัวเรือนละไม่เกิน
                                           (บาท/ตัน)                  (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                               15,000                    14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                         14,000                    16
ข้าวเปลือกเจ้า                                  10,000                    30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                            11,000                    25
ข้าวเปลือกเหนียว                                12,000                    16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์ (ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,986 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,089 บาทเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,369 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,213 บาทเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.90

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 31,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 31,800 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.78

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,990 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,875 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.89

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,057 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,995 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,041 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,752 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.53 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 243 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 471 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,702 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 455 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,315 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.51 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 387 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 459 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,328 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,969 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.37 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 359 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 468 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,609 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,158 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.00 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 451 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.2154

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

โควิดฯ ดันราคาข้าวไทยพุ่ง จีนกอดสต็อก 120 ล้านตัน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ราคาข้าวทั่วโลกปรับตัวขึ้น 20–50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 600–1,500 บาทต่อตัน เนื่องจากหลายประเทศประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการข้าวทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับจีนเริ่มหยุดการส่งออกข้าว หลังจากในปี 2562 จีนส่งออกประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งขายในราคาที่ต่ำกว่าไทย 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส ทำให้จีนต้องเก็บสต็อก 120 ล้านตัน สำรองไว้สำหรับการบริโภคในประเทศแทน เพื่อลดปัญหาการแย่งอาหารในอนาคต“เดิมคาดการณ์ว่า ปีนี้จีนอาจส่งออกเพิ่มเป็น 3.5-4.0 ล้านตัน แต่เมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เหตุการณ์เปลี่ยนด้วยการชะลอการส่งออก ทำให้หลายๆ ประเทศให้ความสนใจที่จะซื้อข้าวจากไทยอีกรอบ และผู้นำเข้าบางรายรับซื้อไม่อั้น เพื่อเก็บสต็อกข้าวสำรองไว้เช่นกัน ล่าสุดราคาข้าวสาร 5% ของไทย ปรับไปอยู่ที่ 440–450 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ประเทศอื่นก็ปรับขึ้นเช่นกัน”

ส่วนกรณีที่ประชาชนในฮ่องกงและสิงคโปร์ มีการแย่งซื้อข้าวสารในซูเปอร์มาเก็ตจนขาดตลาดเมื่อช่วงต้นๆ ปีที่ผ่านมา ล่าสุดผู้นำเข้าขาวของฮ่องกงได้เจรจากับผู้ส่งออกไทยแล้ว ในการเพิ่มสต็อกข้าว โดยข้าวที่ส่งออกไปฮ่องกงส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ และไทยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1

“ที่ผ่านมาข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งมากจนทำให้ขายลำบากในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และผู้นำเข้าต้องการนำเข้าข้าวราคาถูก ดังนั้นเมื่อจีนเริ่มชะลอส่งออกข้าว ประกอบกับค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า ทำให้เป็นโอกาสของข้าวไทย รวมทั้งตลาดอินโดนีเซียน่าจะกลับมาสั่งซื้อข้าวมากขึ้น เพราะสต็อกในประเทศเริ่มลดลง คาดว่าปีนี้น่าจะนำเข้าข้าวประมาณ 1 ล้านตัน ไทยจะได้รับประโยชน์เช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภคหลังจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนาม มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มข้าวหอม และข้าวพื้นนิ่ม และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย ทำให้สามารถเสนอขายได้ในระดับราคาที่ต่ำกว่าข้าวไทย ส่งผลให้เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญ เช่น จีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย อีกทั้งเวียดนามยังทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ทำให้มีโอกาสขยายตลาดส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป และกลุ่มสมาชิกหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) มากขึ้น

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เห็นชอบ 2 โครงการ คือ การประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 และการขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต 2562/63 โดยโครงการประกันภัยฯ กำหนดประกันภัย 2 ลักษณะ คือ รับประกอบภัยพื้นฐานหรือเทียร์ 1 จำนวน 44.7 ล้านไร่ และรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ หรือเทียร์ 2 ไม่เกิน 1 ล้านไร่ โดยใช้เงินงบประมาณเฉพาะโครงการเทียร์ 1 วงเงิน 2,910 ล้านบาท ส่วนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกจะขยายเวลาออกไปจนถึง 31 มีนาคมนี้ โดยมีข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนตัน วงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น 5,000 บาท โดยที่ประชุมเห็นชอบการจัดสรรค่าใช้จ่ายให้ ธ.ก.ส.วงเงิน682 ล้านบาท รวมทั้งเพื่อชดเชยต้นทุนเงินและค่าบริหารโครงการ 167 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายกรณีระบายข้าว 515 ล้านบาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลงหลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนราคาปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 หลังจากที่มีความต้องการข้าวจากฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดค่อนข้างตึงตัว เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูใหม่ยังมีไม่มากนัก โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 365-375 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่ราคาตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่วงการค้ากังวลเกี่ยวกับข่าวลือว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์จะจำกัดการนำเข้าข้าวนับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูใหม่ในประเทศ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศมาตรการดังกล่าวออกมาอย่างเป็นทางการ

โดยวงการค้า รายงานว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-23 กุมภาพันธ์ 2563 มีการส่งออกข้าวแล้วประมาณ 357,900 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวขาว 5% นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the General Statistics Office; GSO) รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 400,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ส่งออกได้ประมาณ 350,000 ตัน สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตจนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว (Winter-Spring Crop) แล้วประมาณ 16.72 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 1.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดทางภาคเหนือเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 4.76 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 3.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่จังหวัดทางภาคใต้เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 11.96 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานอาหารและปัจจัยสำรองแห่งชาติ (The National Food and Strategic Reserves Administration) ว่าในปี 2563 รัฐบาลตั้งเป้าจัดหาข้าวไว้ที่ 50 ล้านตัน ประกอบด้วย ข้าวเมล็ดสั้น (short-grain rice / พันธุ์ japonica) จำนวน 30 ล้านตัน และข้าวเมล็ดยาว (long-grain rice / indica) จำนวน 20 ล้านตัน โดยกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำ (The floor price) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยข้าวเมล็ดยาวต้นฤดู (early-season long-grain rice) กำหนดไว้ที่ 2,420 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 346 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 2,400 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 343 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ในปี 2562 ส่วนข้าวเมล็ดยาวปลายฤดู (late-season long-grain rice) กำหนดไว้ที่ 2,540 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 363 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 2,520 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 360 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้าวเมล็ดสั้นรัฐบาลคงราคาไว้ที่ 2,600 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 372 ดอลลาร์ สหรัฐต่อตัน เท่ากับในปี 2562

โดยก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ในปี 2563 รัฐบาลตั้งเป้าจัดหาข้าวไว้ที่ 50 ล้านตัน ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์ japonica จำนวน 30 ล้านตัน และข้าว indica จำนวน 20 ล้านตัน โดยกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำ (The floor price) ไว้ที่ 2,450-2,600 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 349-371 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขึ้นอยู่กับข้าวแต่ละชนิด

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ