หวั่นภัยแล้งกระทบ เกษตรกรเพชรบุรี ปลูกถั่วลิสงแทนข้าวนาปรัง ลดความเสี่ยง แถมให้ผลตอบแทนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 6, 2020 14:16 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

หวั่นภัยแล้งกระทบ เกษตรกรเพชรบุรี ปลูกถั่วลิสงแทนข้าวนาปรัง ลดความเสี่ยง แถมให้ผลตอบแทนสูง

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าปัจจุบันปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และคาดว่ายังมีแนวโน้มยืดเยื้อออกไป เกษตรกรจึงมีการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร โดยปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรังตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ และยังช่วยตัดวงจรชีวิตของโรคและแมลงศัตรูข้าว ซึ่งพืชทางเลือกที่น่าสนใจ เหมาะสมต่อการปลูกในช่วงฤดูแล้ง คือ ถั่วลิสง เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลตอบแทนสูง และตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อสำรวจต้นทุนการผลิตถั่วลิสง พบว่า พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอบ้านลาด และเขาย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ในเขตชลประทาน มีแหล่งรับซื้ออยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเกษตรกรมีความชำนาญในการปลูก โดยมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวประมาณ 600 - 700 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 486 กก./ไร่ ผลผลิตรวม 290,000–340,000 กก./ปี ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 80 – 110 วัน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,370 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 3,410 – 4,388 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 20 – 22 บาท/กก. ในขณะที่ การปลูกข้าวนาปรัง ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 305.47 บาท/ไร่ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปลูกถั่วลิสงให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการปลูกข้าวนาปรัง

สำหรับการจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่เกษตรจำหน่ายให้กับโรงต้มถั่วที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จำนวน 6 โรง ซึ่งมีความต้องการถั่วลิสงตลอดทั้งปี แต่ผลผลิตในพื้นที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้โรงต้มถั่วดังกล่าว รับซื้อถั่วลิสงจากภาคเหนือ และมีการนำเข้าจากประเทศพม่า จึงนับเป็นโอกาสดีที่เกษตรกรในพื้นที่จะหันมาปลูกถั่วลิสงทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพื่อเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง

ด้านนางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกถั่วลิสง มีขั้นตอนการดูแลที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การพรวนดินเพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของผลผลิต การใช้ปุ๋ยเร่งดอกและเมล็ด รวมทั้งการใช้น้ำ ซึ่งเกษตรกรควรมีการบริหารจัดการด้านแรงงาน โดยการรวมกลุ่มการผลิต หรือการ “เอาแรง” ในพื้นที่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและปัญหาด้านแรงงานได้ ดังนั้น เกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกและการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมเพียงพอต่อการผลิต และควรมีการบำรุง ดูแลรักษาที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้ง ควรเฝ้าระวังโรคแมลงกินใบและฝักถั่วลิสงที่จะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตได้ ทั้งนี้ หากเกษตรกรสนใจข้อมูลการผลิตถั่วลิสงของจังหวัดเพชรบุรี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 โทร. 0 3233 7951 หรืออีเมล zone10@oae.go.th

************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ