นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อเศรษฐกิจโลก การดำรงชีวิต รวมถึงความเชื่อมั่นในเรื่องของสินค้าบริโภค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าและการบริหารสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้เพิ่มช่องทางการนำสินค้าเกษตรสู่ตลาด Online ให้มากขึ้น และเตรียมความพร้อมรองรับแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร (Labor migration) ซึ่งล่าสุดที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าในประเทศ โดยจากการคาดการณ์ Supply Chain สถานการณ์ผลผลิตการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า สินค้าเกษตรที่สำคัญ ในปี 2563 อาทิ ข้าว สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง มะพร้าว และอ้อยโรงงาน จะมีกำลังการผลิตเพียงพอ ไม่ขาดแคลนสินค้า โดยเฉพาะ ไข่ไก่ ซึ่งไทยสามารถผลิตไข่ไก่ได้วันละ 41 ล้านฟอง ขณะที่การบริโภคในประเทศมีวันละไม่เกิน 40 ล้านฟอง จึงมีเพียงพอเพื่อการบริโภคในประเทศอย่างแน่นอน และสามารถส่งออกได้อีกด้วยหากมีความต้องการ
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สศก. ได้ประสานหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเตรียมการกระจายสินค้าเกษตรและอาหารไปยังจุดต่างๆ โดยต้องมีการเชื่อมโยงกับสหกรณ์การเกษตรทุกจังหวัด จนไปถึงระดับอำเภอ นอกจากนี้ สศก. จะเร่งดำเนินการประสาน กรมส่งเสริมการเกษตร ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ภาคการเกษตรแก่เกษตรกรและแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องกลับสู่ถิ่นฐาน โดยมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่ายอีกประมาณ 10,000 ศูนย์ เป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน พร้อมทั้งการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงฝ่ายความมั่นคง เพื่อช่วยกันกระจายสินค้าต่างๆ เช่น ผลไม้ภาคตะวันออกที่กำลังจะออกผลผลิต ตลอดจน บูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และหอการค้าจังหวัด เตรียมจุดกระจายสินค้าในแต่ละจังหวัด รวมถึงแต่ละอำเภอ ให้แก่พี่น้องเกษตรกรและประชาชน
ทั้งนี้ สศก. ยังได้เตรียมเสนอ โครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทย ด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโควิด-19 ในครั้งนี้ เพื่อเป็นทางรอดและสร้างภูมิคุ้มกันในสภาวะปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคร้ายโควิด-19 ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่มีที่ดินทำกินอยู่แล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำการเกษตรรูปแบบใด ก็สามารถที่จะติดต่อไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อเข้าฝึกอบรมผ่านตามศูนย์เครือข่ายต่างๆ รวมถึงได้มีการขอความร่วมมือกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ และเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สศก. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรแก่ผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงแรงงานคืนถิ่นสามารถนำมาสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ขยายผลสู่การทำการเกษตรกรรมยั่งยืน สร้างรายได้อย่างพอเพียงด้วยศาสตร์พระราชา ดังนั้น จึงขอให้พี่น้องเกษตรกร และประชาชนมั่นใจว่าสถานการณ์ผลผลิตการเกษตรจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าในประเทศ และกระทรวงเกษตรฯ ก็ยังมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 อย่างแน่นอน
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร