สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 3, 2020 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2563

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว
1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565 (3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว (4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ 2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63

รอบที่ 1 มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

ชนิดข้าว                           ราคาประกันรายได้    ครัวเรือนละไม่เกิน
                                       (บาท/ตัน)              (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                           15,000               14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                     14,000               16
ข้าวเปลือกเจ้า                              10,000               30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                        11,000               25
ข้าวเปลือกเหนียว                            12,000               16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว 3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,014 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,843 บาท เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.24

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,887 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,639 บาท เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.87

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 31,830 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 31,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.88

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,150 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,930 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 8.17

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,072 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,840 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,024 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,328 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.68 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,512 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 564 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,330 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 502 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,339 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 12.35 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,991 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 535 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,387 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 484 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,753 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 10.53 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,634 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 561 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,232 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 514 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,729 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 9.14 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,503 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4999

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนามผวาโควิดตุนข้าว ตั้งทีมตรวจเล็กแบนส่งออกจับตา “เวียดนาม” เคาะแบนส่งออกข้าว หลังแล้งทุบผลผลิตลด ประชาชนต้องการตุนสต็อกรับมือโควิด-19 รัฐบาลตั้งทีมตรวจสอบด่วน ด้านเอกชนไทยลุ้นอานิสงส์รับออร์เดอร์แทน

แหล่งข่าวจากวงการข้าวเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 เวียดนามออกหนังสือมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรชนบท เพื่อตั้งคณะทำงานเข้าตรวจสอบหน่วยงานค้าข้าวท้องถิ่น และผู้ส่งออกรายใหญ่ของเวียดนาม เพื่อประเมินความต้องการของตลาดส่งออก และวงเงินทุนหมุนเวียนในการส่งออกข้าว และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีก่อนวันที่ 28 มีนาคมนี้ “ในระหว่างที่รอข้อสรุป ต้องระงับไม่ให้มีการซื้อขายใหม่ ส่วนสัญญาที่เซ็นไปแล้วและกำลังส่งมอบจะพิจารณาหลังจากนายกรัฐมนตรีได้ฟังข้อสรุปจากคณะทำงาน ทั้ง 3 กระทรวงแล้ว โดยจะยึดหลักว่า ต้องมั่นใจว่ามีข้าวเพียงพอกับประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง และโรคระบาดโควิดในขณะนี้”

สาเหตุสำคัญที่เวียดนามต้องออกมาทบทวนและประเมินสถานการณ์ส่งออก เนื่องจากผู้ส่งออกเวียดนามได้มีการรับคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าปริมาณมาก ขณะที่ความต้องการสำรองข้าวของประชาชนก็เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ส่วนปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลง ปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้นกว่าราคาในช่วงที่รับคำสั่งซื้อไว้ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หากยังมีการส่งออกอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ดังนั้นรัฐบาลจึงเตรียมวางแนวทางเพื่อให้มีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคก่อน

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากเวียดนามประกาศนโยบายชะลอการส่งออกจะส่งผลต่อตลาดข้าวโลกทันที เพราะปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลก มีปริมาณการส่งออก 6.8 ล้านตัน รองจากไทย อันดับ 2 ปริมาณส่งออก 7.5 ล้านตัน และอินเดีย อันดับ 1 ส่งออก 10.6 ล้านตัน

“ผลจากประเด็นนี้อาจจะทำให้ผู้นำเข้าข้าวที่เคยสั่งซื้อจากเวียดนาม หันมาซื้อจากผู้ส่งออกรายอื่นรวมถึงไทยแทน ซึ่งขณะนี้มีผู้นำเข้าและเทรดเดอร์บางรายที่เริ่มไม่แน่ใจในสถานการณ์ ประสานเข้ามาที่ไทยเพื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการสั่งซื้อแล้ว ในส่วนของไทยแม้ว่าจะมีปริมาณผลผลิตลดลง แต่ยังมีเพียงพอบริโภค ซึ่งเดิมจะมีกลุ่มครัวเรือน ร้านอาหารที่ตอนนี้ก็ลดลงจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่หายไปด้วย”

รายงานข่าวระบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 400,152 ตัน มูลค่า 273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 41.8 และร้อยละ 26.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2563 มีปริมาณ 947,304 ตัน มูลค่า 584 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 42.2 และร้อยละ 30.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ มูลค่า 100.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.06 ฮ่องกง 40.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.49 แอฟริกาใต้ 36.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 21.23 จีน 30.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 37.92 และแองโกลา 28.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.51 สำหรับราคาส่งออกปัจจุบัน ข้าวขาว 5% ของไทย ตันละ 510 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวขาว 5%ของเวียดนาม ตันละ 420-430 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอินเดียตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ฟิลิปปินส์มีแผนเพิ่มนำเข้าข้าวเป็นเสบียงฝ่าวิกฤติโรคระบาด

นายคาร์โล โนกราเลส เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฟิลิปปินส์ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า คณะทำงานพิเศษระหว่างกระทรวงเพื่อต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ กำลังรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ในการทำข้อตกลงสั่งซื้อข้าวระดับรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งในระหว่างนี้กระทรวงเกษตรได้เริ่มติดต่อกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกรอไว้แล้ว

ทั้งนี้ โนกราเสล กล่าวว่า ในช่วงนี้ ฟิลิปปินส์ต้องการนำเข้าข้าวอีก 300,000 ตัน เพื่อให้มั่นใจว่าเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ ในช่วงที่ทุกฝ่ายกำลังต่อสู้กับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ที่ในฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 1,500 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 78 คน และดูเตร์เตสั่ง “ล็อกดาวน์” กรุงมะนิลาเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายวิลเลียม ดาร์ รมว.กระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปริมาณข้าวที่สำรองอยู่ในคลังยังมีเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศอีกประมาณ 4 เดือน อนึ่ง เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลฟิลิปปินส์ยกเลิกเพดานการนำเข้าข้าวที่จำกัดมานานกว่า 20 ปี เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถนำเข้าข้าวได้อย่างไม่จำกัด

ท่าทีดังกล่าวของฟิลิปปินส์เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่า ความมั่นคงทางอาหารของโลกอาจสั่นคลอน จากการที่เวียดนามเพิ่มความเข้มงวดในการส่งออกข้าว และสำรองข้าวสำหรับการบริโคภายในประเทศมากขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 เช่นเดียวกับกัมพูชาที่ประกาศลดการส่งออกข้าว เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนในประเทศ จะมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด

ที่มา : เดลินิวส์

สิงคโปร์กลัวขาดแคลนข้าว จี้ทำข้อตกลงไม่ห้ามส่งออก

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าจำนวนมากอย่างสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ พยายามชักจูงไทย เวียดนาม อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ทำข้อตกลงที่จะไม่ห้ามส่งออกข้าวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะหากรัฐของประเทศผู้ส่งออกข้าวหยุดการส่งออก หรือจำกัดปริมาณส่งออกเพื่อเก็บไว้บริโภคภายในประเทศให้เพียงพอในช่วงการระบาดแล้ว อาจทำให้บางประเทศขาดแคลนข้าวได้

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญสมาคมและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ข้าวแล้ว พบว่า ข้าวไทยไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะขณะนี้สต็อกข้าวของภาคเอกชนรวมกันไม่ต่ำกว่า 4 ล้านตันข้าวสาร เพียงพอสำหรับการบริโภคได้อีก 7-8 เดือน และข้าวนาปรังปี 2563 รอบแรกเพิ่งเก็บเกี่ยวได้ร้อยละ 20 ของผลผลิต 5 ล้านตันข้าวเปลือก และยังมีข้าวนาปรังรอบ 2 ที่จะเก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคมนี้อีก 3 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเห็นข้าวสารรวมกันประมาณ 5 ล้านตัน

นอกจากนี้ตลาดส่งออกข้าวยังซบเซา โดยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยเพิ่งส่งออกได้ 900,000 ตัน เท่านั้น จากเคยส่งออกได้เป็นล้านตัน เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยการส่งออกเพิ่งขยับขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 จากคำสั่งซื้อข้าวหอมมะลิของสิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐฯ ประมาณ 600,000-700,000 ตัน แต่ประเทศที่เคยนำเข้าข้าวขาวจำนวนมากอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ยังไม่นำเข้าข้าวจากไทย แต่นำเข้าจากอินเดียและเวียดนามแทน เพราะราคาถูก เช่น ข้าวขาว 5% ของไทยตันละ 480 ดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐ และอินเดียตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนไม่ต้องซื้อสินค้ากักตุน เพราะผลผลิตข้าวยังทยอยออกมาเรื่อยๆ การซื้อตุนแม้จะทำให้การขายดีขึ้นในช่วงที่มีการซื้อตุนกันมากๆ แต่หลังจากนั้น การค้าจะซบเซาลง เนื่องจากการซื้อไม่มี เพราะคนต้องบริโภคข้าวที่ตุนไว้ให้หมดก่อนจึงจะซื้อใหม่

ที่มา : เดลินิวส์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ