สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 3 - 9 เมษายน 2563
สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว
มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก
ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่
1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2จำนวน 13.81 ล้านไร่
1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน
1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา
1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา
1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล
ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่
ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565
(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว
(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว ราคาประกันรายได้ ครัวเรือนละไม่เกิน (บาท/ตัน) (ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 14 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 16 ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 30 ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 25 ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 16
กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด
2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563
2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ
2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว
3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63
มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้
3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563
4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63
มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1
4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,154 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,014 บาทเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.00
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,233 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,887 บาทเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.89
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 33,700 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 31,830 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.87
ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,575 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.63
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่ )สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,133 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,902บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,072 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,840บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.69 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 2,062 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 579 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,858บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 564 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,330บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.66 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 528 บาท
ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 547 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,816บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 535 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,387บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.24 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 429 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 576 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,760บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 561 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,232 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.67 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 528 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.5703
ฟิลิปปินส์เตรียมรับมือกับสถานการณ์หลังจากเวียดนามแหล่งนำเข้าข้าวเบอร์หนึ่งระงับการส่งออกข้าวชั่วคราว เพื่อให้มีอุปทานเพียงพอสำหรับประชาชนเวียดนามในช่วงวิกฤติโควิด-19
นาย William D. Dar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่า กระทรวงเกษตรได้ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 3.20 หมื่นล้านเปโซ เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศจะมีข้าวเพียงพอ ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวและพิธีการศุลกากรขาเข้ายังดำเนินการตามปกติอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงเกษตรได้มีการตรวจสอบเอกชนที่นำเข้าข้าวทำให้มั่นใจว่าปริมาณข้าวจะมีเพียงพอในช่วงนี้อย่างไรก็ดี ล่าสุดรัฐบาลเวียดนามได้สั่งระงับการส่งออกข้าวชั่วคราวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเวียดนามเป็นแหล่ง
นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ คิดเป็นร้อยละ 73 ของการนำเข้าทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่าปริมาณข้าวในสต็อกขณะนี้จะมีเพียงพอในอีก 2 เดือนข้างหน้า และกระทรวงเกษตรจะใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าข้าวจะมีบริโภคไปจนถึงสิ้นปีโดยกำลังพิจารณาการเพิ่มการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่เขต Cagayan Valley และ Central Luzon เพื่อเพิ่มผลผลิตในช่วงไตรมาสที่3 ของปี 2563 ทั้งนี้ มั่นใจว่าข้าวจะไม่ขาดแคลนในช่วงการปิดเมืองจากปริมาณข้าวที่นำเข้ามาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งปริมาณผลผลิตข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งนำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่น ไทย เมียนมา อินเดียและปากีสถาน เป็นต้น โดยอาจพิจารณาซื้อในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล
ขณะที่สมาพันธ์เกษตรกรอิสระ (The Federation of Free Farmers: FFF) มีความเห็นว่าปัญหาอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน หากเวียดนามยังคงระงับการส่งออกข้าวต่อไป โดยนาย Raul Montemayor ผู้จัดการ FFF เห็นว่าฟิลิปปินส์ควรเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินและกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้อย่างไรก็ดี เห็นว่าเวียดนามไม่น่าจะหยุดการส่งออกข้าวทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง แต่อยู่ที่ว่าจะเสนอขายในราคาและปริมาณเท่าไร ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แย่ลง ทำให้การขนส่งและท่าเรือได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้วจะเห็นได้จากประเทศผู้ส่งออกมีการส่งออกลดลงกว่าการส่งออกปกติและพิจารณาจัดลำดับความสำคัญต่อการบริโภคภายในประเทศของตนเองก่อน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้อุปทานลดลงในตลาดส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น อย่างเช่นเมื่อปี 2551 ที่เกิดวิกฤติการเงินทั่วโลก ทำให้เวียดนามลดการส่งออกข้าวส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งปัจจุบันนี้ราคาส่งออกอยู่ที่ประมาณ 400 – 450 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน นอกจากนี้ ในปีนี้ภาคการผลิตข้าวของเวียดนามยังประสบความท้าทายเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วยังประสบปัญหาเรื่องความผันผวนของผลผลิตจากพื้นที่การเพาะปลูกของประเทศที่มีแนวโน้มลดลง นาย Montemayor กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของฟิลิปปินส์ คาดว่าจะมีการส่งออกลดลงในปีนี้เช่นกันโดยจะส่งออกปริมาณต่ำสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากข้าวไทยมีราคาแพงเกินไปสำหรับผู้นำเข้า และการนำเข้าโดย NFA (แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล) ได้ถูกยกเลิกไปตามกฎหมายฉบับใหม่ (Rice Tariffication Law)
ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทยโดยในปี 2562 เวียดนามส่งออกข้าวกว่า 6.37 ล้านตันเป็นการส่งออกมายังฟิลิปปินส์ถึง 2.10ล้านตัน และข้อมูลจากDepartment of Agricultural Products Processing and Market Development ของเวียดนามระบุว่าฟิลิปปินส์จะยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม แต่จะมีปริมาณและมูลค่าต่ำกว่าปีก่อน สำหรับข้อมูลสต็อกข้าวของฟิลิปปินส์คาดว่าจะมีปริมาณ 2.60ล้านตัน ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ หรือเทียบเท่ากับ 75 วันทั้งนี้ ชาวฟิลิปปินส์มีการบริโภคข้าวเฉลี่ยประมาณ 35,369 ตันต่อวัน
ล่าสุดคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการจัดการโรคอุบัติใหม่ (The Inter-Agency Task Force on the Management of Emerging Infectious Diseases: IATF-MEID) ได้อนุมัติข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ในการนำเข้าข้าวเพิ่ม 3 แสนตัน แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government) กับประเทศคู่ค้าในอาเซียน และประเทศอื่นๆ นอกอาเซียน เช่น อินเดีย และปากีสถาน เป็นต้น เพื่อติดต่อขอซื้อข้าวมาสำรองต่อไป
โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ละประเทศไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยืดเยื้ออีกนานแค่ไหน ความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ โดยล่าสุดเวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้นำการส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก ได้ออกคำสั่งระงับการส่งออกข้าวชั่วคราวสำหรับสัญญาซื้อขายใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าข้าวจะมีเพียงพอสำหรับประชาชนทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเวียดนามได้ออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากผู้ส่งออกเวียดนามมีการทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้าไว้ปริมาณมาก ในขณะที่ความต้องการสำรองข้าวของประชาชนชาวเวียดนามเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประกอบกับเวียดนามกำลังเผชิญภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวลดลง รวมทั้งพื้นที่เพาะปลูกข้าวทางตอนใต้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลงจากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งการระงับการส่งออกข้าวของเวียดนามดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อฟิลิปปินส์อย่างแน่นอน เนื่องจากฟิลิปปินส์พึ่งพาการนำเข้าข้าวจากเวียดนามในปริมาณมาก และเดิมฟิลิปปินส์กำหนดให้ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหว ควบคุมการนำเข้าโดยจำกัดเชิงปริมาณ (Quantitative Restriction: QR) และมอบหมายให้หน่วยงาน National Food Authority (NFA) เป็นผู้บริหารการนำเข้าข้าวเพื่อความมั่นคงของประเทศเพียงหน่วยงานเดียว ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกระบบ QR และใช้กฎหมายการเปิดเสรีนำเข้าข้าวแทน ทำให้การซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดย NFA กับรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญถูกยกเลิกไปด้วย ซึ่งหลังจากการเปิดเสรีนำเข้าข้าว พบว่าฟิลิปปินส์มีการนำเข้าในปริมาณที่สูงขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลกแทนจีนในปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าสูงถึง 2.76 ล้านตันซึ่งเป็นการนำเข้าจากเวียดนามถึง 2.15 ล้านตัน และในปีนี้ USDA คาดการณ์ว่าฟิลิปปินส์จำเป็นต้องนำเข้าข้าวถึง 3.30ล้านตัน อย่างไรก็ดี จากการที่เวียดนามระงับการส่งออกข้าวชั่วคราวแบบไม่มีกำหนดที่แน่นอน ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มวิตกกังวลว่า อาจต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนข้าวในช่วงวิกฤติโควิด-19 จึงต้องเร่งสต็อกข้าวเพิ่มมากขึ้น และก่อนที่ประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆ จะดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับเวียดนาม โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์จะนำวิธีการซื้อข้าวแบบแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลกลับมาใช้หลังจากได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่การเปิดเสรีนำเข้าข้าว เนื่องจากต้องการซื้อข้าวในปริมาณมาก รวมทั้งการซื้อขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลจะทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์แน่ใจได้ว่าข้าวจะถูกส่งมอบตามสัญญา
สำหรับการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 นับเป็นปีที่ท้าทายและยากลำบากอีกปีหนึ่ง เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย โดยปัจจัยลบสำคัญที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทได้เริ่มอ่อนค่าลงส่งผลให้ข้าวไทยแข่งขันได้มากขึ้นอย่างไรก็ดี ปีนี้ยังมีปัจจัยภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยออกสู่ตลาดน้อยลงประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้การระงับการส่งออกข้าวของเวียดนามน่าจะเป็นโอกาสดีต่อข้าวไทยที่จะทวงส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์กลับคืน อย่างไรก็ดี ภาครัฐและเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาตรวจสอบปริมาณผลผลิตและสต็อกข้าวของไทยให้แน่ใจว่ามีเพียงพอและจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ก่อนที่จะตัดสินใจทำสัญญาซื้อขายทั้งในรูปแบบเอกชนกับเอกชน หรือรัฐบาลต่อรัฐบาลต่อไป
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 กัมพูชาส่งออกข้าวปริมาณ 230,948 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่งออกไปจีนมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 101,345 ตัน หรือร้อยละ 44 รองลงมา ได้แก่ สหภาพยุโรปร้อยละ 30 อาเซียนร้อยละ 12 และประเทศอื่นๆ ร้อยละ 14ส่วนการส่งออกในเดือนมีนาคม2563 มีปริมาณ 94,449 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2562 ซึ่งประเภทข้าวที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิร้อยละ 77 ข้าวขาวร้อยละ 22 อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 รัฐบาลกัมพูชาได้ออกประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวและข้าวเปลือกเป็นการชั่วคราว เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้การออกประกาศดังกล่าวถือเป็นมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศให้เพียงพอกับประชาชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 แต่สำหรับข้าวหอมมะลิ ยังคงส่งออกได้ตามปกติ
สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในช่วงที่ประเทศเกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือการรักษาความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ามีอาหารบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ โดยสินค้าในเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะต้องเก็บตุนไว้ คือ ข้าวสารและเกลือ ตามด้วยสินค้าเชิงกลยุทธ์อื่นๆที่มีความจำเป็น เช่น เจลล้างมือ และหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลมีคำสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวและข้าวเปลือกเป็นการชั่วคราวแล้วนั้น ก็ได้มีการสั่งให้จัดหาคลังสำหรับเก็บข้าวเปลือกเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเก็บข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศได้ จนกว่าวิกฤตจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 จะทุเลาลง โดยการออกประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวและข้าวเปลือกเป็นการชั่วคราวนั้น มีจุดประสงค์หลักเพื่อสำรองอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ และขณะเดียวกันเวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกก็ไม่รับคำสั่งซื้อข้าวชั่วคราว ส่งผลให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกอาจลดน้อยลง ขณะที่ในช่วงนี้หลายๆประเทศต้องการการนำเข้าอาหารเพิ่มมากขึ้นซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วอาจส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการส่งออกข้าวไทย หากในช่วงนี้ยังมีปริมาณข้าวเหลือพอที่จะส่งออกได้
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร