สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 3 - 9 เมษายน 2563
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดว่าปี 2563 ผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนเมษายนจะมีประมาณ 1.702 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 0.306 ล้านตัน สูงขึ้นจากผลผลิตปาล์มทะลาย 1.561 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 0.281 ล้านตัน ของเดือนมีนาคม คิดเป็นร้อยละ 9.03 และร้อยละ 8.90 ตามลำดับ
ราคาผลปาล์มทะลาย สัปดาห์นี้เฉลี่ย กก.ละ 3.49 บาท สูงขึ้นจาก กก.ละ 3.14 บาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 11.15
ราคาน้ำมันปาล์มดิบ สัปดาห์นี้เฉลี่ย กก.ละ 25.59 บาท ลดลงจาก กก.ละ 25.73 บาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.54
2. ภาวะการผลิต การตลาด และราคาในตลาดต่างประเทศ
ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มต้องเตรียมรับกับการลดลงของราคา เพราะการลดลงในภาคการบริโภคเนื่องทาจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การกักตัวเองเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ทำให้มีการสั่งปิดร้านอาหาร ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันพืชลดลง ในที่สุดเศรษฐกิจที่หดตัวจะส่งผลกระทบถึงภาคการบริโภคในระยะยาว ลูกจ้างได้เงินเดือนลดลงและการถูกไล่ออกจากงานกระทบการใช้จ่ายทั้งประเทศ ประเทศผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ อินโดนีเซียและมาเลเซียส่งออกลดลง ทำให้สต็อกคงเหลือเพิ่มขึ้นรวมกับปัจจัยที่มีผลราคาน้ำมันปาล์มดิบทำให้ราคาน้ำมันปาล์มลดลงร้อยละ 25 ในปี 2563 ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากไวรัสน้อย แต่ผลลิตปี 2563 คาดการณ์ว่าจะน้อยลง เนื่องจากปัญหาแล้งและการลดปริมาณการใส่ปุ๋ยเมื่อปี 2562 และอาจเกิดการขาดแคลนแรงงานในช่วงปลายเมษายน เนื่องจากเทศกาลวันอีดของชาวมุสลิม
ตลาดมาเลเซีย ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบสัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 2,355.29 ดอลลาร์มาเลเซีย (18.04 บาท/กก.) ลดลงจากตันละ 2,507.36 ดอลลาร์มาเลเซีย (19.26 บาท/กก.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 6.06 ตลาดรอตเตอร์ดัม ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบสัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 611.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20.17 บาท/กก.) ลดลงจากตันละ 661.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21.75 บาท/กก.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 7.53
หมายเหตุ : ราคาในตลาดต่างประเทศเฉลี่ย 5 วัน
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร