สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 5, 2020 16:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 24 - 30 เมษายน 2563

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63

มติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63และมติที่ประชุม นบข.ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบในหลักการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ตามมติ

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562การดำเนินงานประกอบด้วย 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำหนดอุปสงค์ อุปทานข้าว ได้กำหนดอุปสงค์ 32.48 ล้านตันข้าวเปลือกอุปทาน 34.16 ล้านตันข้าวเปลือก

ช่วงที่ 2 ช่วงการผลิตข้าว ได้แก่

1.1) การกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2จำนวน 13.81 ล้านไร่

1.2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และ รอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

1.3) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี และควบคุมค่าเช่าที่นา

1.4) การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดรูปที่ดินและปรับระดับพื้นที่นา

1.5) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) (2) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 (3) โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแม่นยำสูง (4) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ (6) โครงการรักษาระดับปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าวหอมมะลิ (7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง (8) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไปเป็นพืชอื่น (Zoning by Agri-Map) (9) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย(10) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด และ (11) โครงการประกันภัยพืชผล

ช่วงที่ 3 ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวนวดข้าว และ (2) โครงการยกระดับมาตรฐานโรงสี กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงตลาดข้าวนาแปลงใหญ่

ช่วงที่ 4 ช่วงการตลาดในประเทศได้แก่ (1) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร

(2) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พ.ศ. 2563-2565

(3) โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคผลผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว

(4) โครงการรณรงค์บริโภคข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์ กข43 ปีการผลิต 2561/62 (5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าว (6) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (7) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในการเก็บสต็อก และ (8) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก

ช่วงที่ 5 ช่วงการตลาดต่างประเทศได้แก่ (1) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ (2) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมข้าว (3) การส่งเสริมพัฒนาการค้าสินค้ามาตรฐานและปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และ (4) การประชาสัมพันธ์การบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกร

ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว และให้กลไกตลาดทำงานเป็นปกติ โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

2.1) ชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
ชนิดข้าว                           ราคาประกันรายได้    ครัวเรือนละไม่เกิน
                                       (บาท/ตัน)              (ตัน)
ข้าวเปลือกหอมมะลิ                           15,000               14
ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่                     14,000               16
ข้าวเปลือกเจ้า                              10,000               30
ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                        11,000               25
ข้าวเปลือกเหนียว                            12,000               16

กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ได้สิทธิ์ไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด เมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุดและได้สิทธิ์ตามลำดับระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวข้าวแต่ละชนิด

2.2) เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2562 - 28 กุมภาพันธ์ 2563

2.3) ระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย เกษตรกรสามารถใช้สิทธิระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2562 -28 กุมภาพันธ์ 2563 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 โดยสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนดให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

2.4) การประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้ประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 - 4 ทุก 15 วัน โดยจ่ายเงินครั้งแรก ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 สำหรับเกษตรกรได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยว - 15 ตุลาคม 2562 สำหรับงวดที่ 5 เป็นต้นไป ได้ปรับการประกาศใหม่เป็นทุกวันศุกร์(ทุก 7 วัน) เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายข้าว

3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 25,482.06 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนี้

3.1) กลุ่มเป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

3.2) ระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 31 ธันวาคม 2562 ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม – 30 เมษายน 2563

4) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,458.89 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึง เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

4.1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จำนวนประมาณ 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท โดยพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลแล้ว เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้ง กสก. เพื่อเพาะปลูกข้าวใหม่ทันในช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1

4.2) ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 - 30 กันยายน 2563

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,699 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,642 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.39

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,548 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,546 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.02

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 34,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 16,250 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,170 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่ ) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 1,117 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,942 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,113 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,867 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 75 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 556 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,890 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 553 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,821 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.54 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 69 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 530 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,054 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 528 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,015 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.37 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 39 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 552 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,762 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,724 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.36 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 38 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1769

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวไม่มาก โดยข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 440-450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (สูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี) เนื่องจากในช่วงนี้ผู้ส่งออกไม่กล้าที่จะทำสัญญาขายข้าวเพราะไม่มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบข้าวให้ผู้ซื้อได้หรือไม่ หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายจำกัดการส่งออกข้าวความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการส่งออกข้าวของเวียดนามนั้น นายกรัฐมนตรี Nguyen Xuan Phuc ได้แถลงว่าจะยกเลิกการกำหนดโควตาส่งออกข้าวเพื่อฟื้นการส่งออกข้าวของประเทศให้กลับมาเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม (the Ministry of Industry and Trade) ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกการกำหนดโควตาส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุญาตให้ส่งออกข้าวได้อีกครั้งแต่จำกัดปริมาณการส่งออกในเดือนเมษายนที่ 500,000 ตัน เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศจะมีอาหารเพียงพอในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระบุว่า หลังจากที่ได้มีการพิจารณาข้อมูลต่างๆ ทั้งการผลิตและความต้องการข้าว โดยได้จัดสรรส่วนหนึ่งไว้สำหรับการบริโภคภายในประเทศและเก็บสำรองแล้ว เวียดนามจะมีข้าวเหลือพอสำหรับการส่งออกในปีนี้ประมาณ 6.5-6.7 ล้านตัน ส่วนปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านตัน

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 รัฐบาลเวียดนามได้ พิจารณาปรับเพิ่มโควตาส่งออกข้าวสำหรับเดือนเมษายนจากเดิม 400,000 ตัน เป็น 500,000 ตัน ซึ่งข้าวส่วนที่เพิ่ม100,000 ตัน นี้ เป็นข้าวที่ถูกส่งไปที่ท่าเรือก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่รัฐบาลได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวชั่วคราว เพื่อเป็นการรับประกันว่าเวียดนามจะมีอาหารเพียงพอรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 รัฐบาลเวียดนามระบุว่า จะอนุญาตให้ส่งออกข้าวจำนวน 400,000 ตันในเดือนนี้ และมีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (The Ministry of Industry and Trade) ไปดำเนินการร่างแผนส่งออกข้าวสำหรับเดือนพฤษภาคมและยื่นรายงานต่อรัฐบาลภายในวันที่ 25 เมษายน 2563 ด้านสมาคมอาหารเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) และบริษัทส่งออกข้าวออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการกำหนดโควตาส่งออกข้าวสำหรับเดือนพฤษภาคมนี้ โดยขณะนี้สมาชิกของสมาคมอาหารฯ มีอยู่ประมาณ 1.95 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ รวมถึงข้าวที่มีการทำสัญญาส่งออกแล้วประมาณ 1.7 ล้านตัน

ขณะที่กระทรวงการค้า (Vietnam's Trade Ministry) ได้เสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ยกเลิกการกำหนดโควตาส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ตามที่มีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชน โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าการส่งออกข้าวในช่วงนี้ ถูกกีดกันจากสาเหตุของความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ ในขณะที่คาดว่าอุปทานข้าวของประเทศมี เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่รัฐบาลสามารถที่จะควบคุมภาวการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แล้ว

ทางด้านกรมศุลกากรเวียดนามระบุว่า ณ เวลา 15.00 น. ของวันที่ 21 เมษายน 2563 ผู้ส่งออกข้าวได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 57,000 ตัน ภายใต้โควตาการส่งออกข้าว 400,000 ตันของเดือนเมษายน 2563

ขณะที่มีรายงานว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 10-27 เมษายน 2563 มีการส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 210,980 ตัน จากโควตาที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 400,000 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 52.7 ของปริมาณที่ได้มีการแจ้งขึ้นทะเบียนส่งออก)

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนนี้ นาย Nguyen Xuan Phuc นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้อนุมัติข้อเสนอของกระทรวง การค้าและอุตสาหกรรมในการส่งออกข้าวหลังจากที่ได้ประกาศระงับไว้ชั่วคราวตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563

ที่ผ่านมา เพื่อรับประกันว่าเวียดนามจะมีอาหารเพียงพอที่จะรับมือกับการระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ซึ่งจากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนามพบว่า ในช่วงวันที่ 11-12 เมษายน 2563 ผู้ประกอบการส่งออกได้มีการลงทะเบียนเพื่อส่งออกข้าวปริมาณรวม 399,999 ตัน ขณะที่กรมศุลกากรได้มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการส่งออกข้าวบนเว็บไซต์ www.custom.gov.vn ทุกๆ ชั่วโมง

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

กระทรวงการค้า (The Trade Ministry) ระบุว่า สต็อกข้าวของประเทศที่จะได้มาจากผลผลิตข้าวที่กำลังเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเพียงพอสำหรับการบริโภคไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ โดยที่สมาคมโรงสีข้าวของอินโดนีเซีย(the Indonesian Rice Millers and Entrepreneurs Association; Perpadi) คาดว่า ในปีนี้จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 17.8 ล้านตัน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับสต็อกข้าวในปัจจุบันที่มีประมาณ 3.3 ล้านตัน จะทำให้อุปทานข้าวในประเทศมีมากกว่าความต้องการบริโภคอยู่ประมาณ 6.2 ล้านตันทางการระบุว่า ในขณะนี้ได้มีการกระจายข้าวไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ โดยความร่วมมือของภาคเอกชนหลายส่วน แต่อาจจะมีอุปสรรคทางด้านโลจิสติกส์บ้าง เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลที่ต้องการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

ด้านราคาข้าวในช่วงนี้ ศูนย์ข้อมูลราคาอาหารเชิงยุทธศาสตร์ (the Information Center for Strategic Food Prices; PIHPS) รายงานว่า ราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.8 จากเดือนที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 11,950 รูเปียต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 770 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ประธานาธิบดีระบุว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มที่จะลดลง จากการที่ราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มลดลง โดยสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย (Statistics Indonesia; BPS) รายงานว่าราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 4,936 รูเปียต่อกิโลกรัม ลดลงประมาณร้อยละ 4.6 จากปีที่แล้ว

ในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งคาดว่าความต้องการบริโภคข้าวจะเพิ่มขึ้น และจากข้อมูลของสำนักงานความมั่นคงด้านอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (the Agriculture Ministry's Food Security Agency; BKP) ระบุว่า ความต้องการข้าวจะเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเดือนรอมฎอนประมาณร้อยละ 3 และจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ในช่วงเทศกาล Idul Fitri ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยที่ทางรัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงาน Bulog (The State Logistics Agency) ดำเนินการจัดสรรข้าวออกสู่ตลาดเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการและรักษาระดับราคาข้าวให้มีเสถียรภาพ

ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก นบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ